รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ทีมนักวิจัย มนพ. ร่วมกับปราชญ์ชุมชน พัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องทอเสื่อกกด้วยมืออย่างต่อเนื่อง” มุ่งสร้างรายได้ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

ทีมนักวิจัย มนพ. ร่วมกับปราชญ์ชุมชน พัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องทอเสื่อกกด้วยมืออย่างต่อเนื่อง” มุ่งสร้างรายได้ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

นางสาวอรปวีณ์ บัวชู 2020-01-20 10:10:23 3,129

ทีมนักวิจัย มนพ. ร่วมกับปราชญ์ชุมชน พัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องทอเสื่อกกด้วยมืออย่างต่อเนื่อง” มุ่งสร้างรายได้ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

“เสื่อ”หรือ “สาด” เครื่องใช้ในบ้านที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยแทบทุกภาค เชื่อว่าทุกครอบครัว ต้องมี “เสื่อ” ติดบ้านไว้ปูนั่งหรือปูนอน อย่างน้อยก็ต้องมี 1 ผืน  

เสื่อกกบ้านดอนแดงสามัคคี อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ผลิตภัณฑ์โอทอป เกรด Premium ของกลุ่มแม่บ้านทอเสื่อกก สร้างรายได้เสริม หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ได้เป็นอย่างดี คนหนึ่งทอ คนหนึ่งสอด ตามแบบฉบับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดมาจากรุ่นคุณตาคุณยาย ผสานกับวัสดุที่หาได้ง่ายจากท้องถิ่น คือ ต้นกก พืชที่มีมากในท้องถิ่น ถักทอเป็นผืน ใช้งานตามประโยชน์ใช้สอย แต่กว่าจะได้เสื่อออกมาแต่ละผืน เกศินี  กินนีแซ สมาชิกกลุ่มทอเสื่อกกบ้านดอนแดงสามัคคี บอกว่า ชาวบ้านต้องใช้ระยะเวลาเกือบทั้งวัน ร่วมกันทอเสื่อแต่ละผืน ความยาวอยู่ที่ 10 เมตร เย็บตะเข็บสวยงามให้พร้อมใช้งาน ใช้แรงงาน 2 คน คือ คนสอด และคนทอ หาพื้นที่โล่งกว้าง วางเครื่องทอเสื่อแบบดั้งเดิม ขึงเชือกให้ตึง ซึ่งหากลูกค้าอยากได้เสื่อที่มีความยาวมากๆ ก็ต้องวางเครื่องทอ แล้วปรับความยาวใหม่ ขึงเชือกยาวให้ได้ตามความต้องการของลูกค้า แต่ยาวมากที่สุดที่เคยทำได้ก็ไม่เกิน 10 เมตร


ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยนครพนม นำโดย อาจารย์คมศักดิ์  หารไชย อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม จับมือกับ อาจารย์สิทธิชัย  เจริญราช และอาจารย์เกียรติพงษ์  อ่อนบัตร อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ทำงานด้านบริการวิชาการ กับชุมชนอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ให้บริการ กว่า 3 ปี ได้รับทราบปัญหาของชุมชน และนำมาเป็นโจทย์วิจัย จากนายสุรินทร์  นันทะวงษ์ ปราชญ์ชาวบ้านและช่างชุมชนผู้ทอเสื่อกก จึงได้เข้าช่วยหาวิธีการทำให้การทอเสื่อกก ทำได้รวดเร็วขึ้น และเพิ่มความยาวของเสื่อให้ทอได้ยาวขึ้นในครั้งเดียว ลดพื้นที่ในการวางเครื่องทอเสื่อ ด้วยการร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ตอบโจทย์ชุมชน ให้สามารถผลิตเสื่อกกแบบทอมือ ที่ทอได้ง่าย เพิ่มกำลังการผลิต เสริมรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างยั่งยืน


ซึ่งหลังจากร่วมมือกันพัฒนา และปรับแก้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน กว่า 6 เดือน จนได้นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องทอเสื่อกกด้วยมืออย่างต่อเนื่อง” ที่ทอได้ด้วยการใช้คนทอเพียงคนเดียว ทอต่อเนื่องได้ไม่จำกัดความยาว ใช้พื้นที่วางเครื่องทอเพียงเล็กน้อย โดยหากผู้ทอมีความเชี่ยวชาญ สามารถทอทั้งวันได้ถึงวันละ 20 เมตร เท่ากับว่าเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมถึง 4 เท่า


อาจารย์คมศักดิ์  หารไชย เล่าให้ฟังว่า “เราอยู่ในสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ พอได้รับโจทย์จากปัญหาของชาวบ้านมา ก็คิดว่าจะทำอย่างไร จะประดิษฐ์เครื่องมือให้ชาวบ้านสามารถลดขั้นตอนการผลิต หรือเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ จึงเริ่มจากการออกแบบเครื่องจักรกล ร่วมกันกับอาจารย์จากสาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ จำนวน 2 ท่าน มาช่วยในการพัฒนาเครื่องนี้ เริ่มจากการ Review การทำงานของเครื่องจักร คำนวณว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างไร ร่วมกันช่วยร่างแบบขึ้นมา โดยมีนักศึกษาเข้ามาร่วมด้วย และเอาแบบไปใช้จริงกับช่างชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านที่เชี่ยวชาญด้านการทอเสื่อ ปรับแต่งกลไกตามหลักวิศวอุตสาหการ จนได้เครื่องทอ ตรงตามความต้องการของคนทอจริงๆ”

“โจทย์สำคัญ อีกโจทย์หนึ่งคือ ชาวบ้านต้องการเครื่องทอที่เน้นให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่อยากให้ใช้เครื่องไฟฟ้าเลย” อาจารย์คมศักดิ์เล่าและว่า “แม้ว่าชาวบ้านจะอยากได้เครื่องทุ่นแรง แต่ชาวบ้านก็ยังอยากขายงานฝีมือ ที่ต้องทอเสื่อทุกเส้นด้วยมือ เพื่อรักษามาตรฐานของงานโอทอปเกรดพรีเมี่ยมเอาไว้ ไม่ต้องการเอาเครื่องกลไฟฟ้ามาทำงานแทนแรงงานคนทั้งหมด ดังนั้น กลไกการทำงาน เราจะใช้เหล็ก ทำราวพาดเชือก เกี่ยวเชือก และดึงเชือก เพื่อช่วยทำเส้นเชือกตึง และต่อเส้นยืนได้ง่าย และใช้ท่อ PVC พักเชือกเอาไว้ ตามระดับความยาวของเสื่อที่ต้องการ สมมุติว่าเชือกยาว 50 เมตร ก็จะได้เสื่อความยาว 50 เมตร และมีช่องม้วนเก็บเสื่อที่ทอเอาไว้อย่างเป็นระบบ โดยไม่ต้องเสียเวลาขึงเชือกใหม่ทั้งหมด เจาะรูตามแนวท่อ PVC เพื่อให้เส้นเชือกยืนไหลตึงไปตามฟืม ไม่ซ้อนทับกัน เพิ่มแรงหนืดของการตึงเชือกสามระดับ ให้เส้นเชือกตึงสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ความสูงของเครื่องทอ จะออกแบบให้คนนั่งสามารถอยู่ในระดับเดียวกันกับเครื่อง เพิ่มความสะดวกสบายในการทอเสื่อ และไม่กระทบต่อเส้นเชือกที่ต้องตึงได้ระดับ ซึ่งกลไกนี้ช่างทอจะสัมผัสได้ และดึงปรับระดับได้ไม่อยากเกินไปด้วยแรงงาน 1 คน”

“ตอนนี้ เครื่องทอเสื่อกกด้วยมือ แบบต่อเนื่อง เราทำเป็นที่แรก เป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ที่ได้รับคำขอสิทธิบัตร เลขที่ 1903003157 และอยู่ในระหว่างการปรับแก้ไขเรื่องต้นทุนราคา ก่อนจะเอาออกจำหน่ายในตลาด เพิ่มกำลังการผลิตของเสื่อกกที่ตลาดยังมีความต้องการในทุกๆ เดือน โดยเฉพาะเทศกาลงานบุญประจำปี” อาจารย์คมศักดิ์เล่าทิ้งท้าย 


เกศินี กินนารีแซ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอเสื่อกกบ้านดอนแดงสามัคคี ให้สัมภาษณ์ว่า ความต้องการของเสื่อกกในชุมชนนั้น สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ชาวบ้าน ลูกค้าจะสั่งครั้งหนึ่ง 10 ผืนขึ้นไป แต่ละผืนจำกัดความยาวอยู่ที่ 10 เมตร ซึ่งบางครั้งชาวบ้านก็ทำไม่ทัน หรือว่าจะสต๊อกสินค้าไว้มากๆ ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องแมลง 

“ลูกค้าบางคน อยากได้เสื่อความยาว 20 เมตร เราก็ทอไม่ได้ เพราะความยาวขอการขึงเชือกในเครื่องทอแบบดั้งเดิม มีอยู่อย่างจำกัด และกว่าจะทอเสร็จใช้เวลากว่า 2 วัน แรงงานที่ทอก็มีความเมื่อยล้า เกิดปัญหาเส้นเชือกไม่ตึง แน่นไปบ้างหรือเส้นยานเกินไปบ้าง ซึ่งพอเอาเครื่องทอเสื่อกกด้วยมือแบบต่อเนื่อง มาใช้ร่วมด้วย ลดปัญหาตรงนี้ลงได้มาก คนทอก็เลือกเส้นกกได้เอง การทอก็แน่น สม่ำเสมอ ม้วนพับเก็บง่าย และที่สำคัญ เรื่องแรงงาน เราก็ใช้คนทอเพียงคนเดียว”

ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยนครพนม


HOT LINK