รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • นักวิชาการ มนพ. แนะเกษตรกร “เพาะต้นอ่อนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ใช้น้ำน้อย ลดต้นทุน สู้ภัยแล้ง

นักวิชาการ มนพ. แนะเกษตรกร “เพาะต้นอ่อนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ใช้น้ำน้อย ลดต้นทุน สู้ภัยแล้ง

นางสาวอรปวีณ์ บัวชู 2020-01-22 16:19:16 3,819

นักวิชาการ มนพ. แนะเกษตรกร “เพาะต้นอ่อนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ใช้น้ำน้อย ลดต้นทุน สู้ภัยแล้ง

“อาหารสัตว์ โปรตีน 14 เปอร์เซ็นต์ ราคาขายในท้องตลาด 6-8 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ต้องบอกเลยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกรับต้นทุนไว้สูงมาก ชาวบ้านจึงจะนิยมปลูกหญ้า ปลูกต้นอ่อนของพืช ไว้ใช้เลี้ยงสัตว์ แต่ว่าปีนี้ภัยแล้งมาเร็วกว่าทุกปี แปลงพืชก็ต้องใช้น้ำมาก แต่ถ้าชาวบ้านมาลองใช้วิธีการเพาะต้นอ่อนข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์ จะเป็นอีกวิธีการรับมือสู้กับภัยแล้งและพิษเศรษฐกิจได้อีกวิธีหนึ่ง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม  ทาทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนมให้ข้อมูล พร้อมทั้งได้แนะนำวิธีการเพาะต้นอ่อนข้าวโพด ด้วย Fodder System พืชโปรตีนสูง เหมาะสำหรับทำเป็นอาหารสัตว์ จำพวก โค กระบือ รับมือภัยแล้งที่กำลังจะขยายพื้นที่ไปทั่วทุกภาคของประเทศ

ผศ.ถนอม ทาทอง เปิดเผยว่า ในสภาพปัจจุบันเกษตรกรเจอกับปัญหาภัยแล้ง จังหวัดนครพนม เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง อย่างที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์น้ำโขงขณะนี้ก็อยู่ในขั้นวิกฤต ระดับน้ำโขงเหลือเพียงไม่ถึงเมตร นอกจากจะกระทบกับการผลิตน้ำประปาในบางพื้นที่ ยังส่งผลกระทบไปถึงเกษตรกร โดยเฉพาะกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ ที่ขาดแคลนหญ้าในการให้เลี้ยง จึงได้ทำการทดลองการเพาะต้นอ่อนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนการใช้หญ้าสด ช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกร

โดยวิธีการเพาะต้นอ่อน คือ นำเมล็ดข้าวโพดแช่น้ำก่อน 1 คืน จากนั้นนำไปใส่กระบะเพาะปลูกโดยไม่มีดิน ขนาด 30*60 cm. จำนวน 7 กระบะ เพื่อหมุนเวียนในการเพาะต้นอ่อน ใช้ที่รดน้ำหรือป๊อกกี้ฉีดรดไปเรื่อย ๆ จนครบ 7 วัน สามารถนำไปเป็นอาหารของโค กระบือ ได้ โดยเปอร์เซ็นต์ของโปรตีนที่เกิดขึ้นจากต้นอ่อนข้าวโพดอยู่ที่ประมาณ 14 % ซึ่งเป็นพลังงานที่พอเหมาะต่อโคและกระบือ แต่จะต้องให้อาหารร่วมกับฟางข้าว เพราะต้นอ่อนของข้าวโพดจะทำให้เกิดท้องอืด อาจจะใช้ 1:4 หรือ 1:5 กับปริมาณของฟางข้าว

“ในสภาพปัจจุบันสมมุติว่าเราปลูกข้าวโพดเพื่อการเลี้ยงสัตว์เราจะใช้เวลาทั้งหมด 60 วัน เพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์โปรตีนเท่ากัน แต่นี่เราใช้เวลาแค่ 7 วัน ก็ได้เปอร์เซ็นต์โปรตีนเท่ากันแล้ว นั่นหมายความว่ามันสามารถลดต้นทุนแรงงาน ลดปริมาณน้ำที่ใช้ลง ต้นอ่อนข้าวโพดที่เกิดมาเมล็ดของข้าวโพดยังมีแป้งอยู่ ซึ่งจะให้พลังงานกับสัตว์เลี้ยงสูง ใช้ได้ทั้งการขุนวัวที่ไม่ต้องการไขมันแทรก ใช้ขุนควาย ขุนหมู ไก่ ใช้ได้หมด แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ ถ้าเลี้ยงสัตว์ที่เป็นโค กระบือ ต้องใช้ร่วมกับฟางข้าว เพราะต้นอ่อนของข้าวโพด จะทำให้เกิดท้องอืด อาจจะใช้ 1:4 หรือ 1:5 ก็ได้” ผศ.ถนอม กล่าว

ส่วนต้นทุน เมล็ดข้าวโพด 1 กิโลกรัม (ราคา 8 บาท) สามารถเพาะเป็นต้นอ่อนได้ถึง 5-6 กิโลกรัม มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนที่เกิดขึ้นจากต้นอ่อนของข้าวโพด และพลังงานที่พอเหมาะต่อสัตว์เลี้ยงประมาณ 14 % ใช้น้ำในการฉีดพ่นต่อวันไม่ถึงลิตร และเมื่อเทียบกับการปลูกลงแปลงดิน อย่างน้อยต้องใช้พื้นที่ 1-2 ไร่ การใช้น้ำเพื่อรดต้นอ่อนข้าวโพด แน่นอนว่าต้องใช้น้ำในปริมาณที่มากกว่า การเพาะต้นอ่อนข้าวโพดลงกระบะเพาะปลูกจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ในสภาวะแล้งแบบนี้ ที่จะช่วยลดต้นทุนเงินในกระเป๋าของพี่น้องเกษตรกรได้เป็นอย่างดี แถมยังสอดรับกับนโยบายของปศุสัตว์ ที่ต้องการให้เกษตรกรได้ปลูกข้าวโพดและเก็บเมล็ดไว้ เพื่อเพาะเป็นต้นอ่อนในการเลี้ยงสัตว์ในหน้าแล้ง

“แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค และผู้เลี้ยงกระบือ หากนำวิธีการนี้ไปใช้ประโยชน์ ก็สามารถนำไปผสมกับอาหารอย่างอื่นได้ เช่น ผสมอาหาร GMR ทดแทนหญ้าสด ทดแทนข้าวโพด ได้ทุกอย่างเลย เหมาะอย่างมากสำหรับเกษตรกรที่ต้องการเลี้ยงวัว แต่ไม่มีพื้นที่ ซึ่งยกตัวอย่างในต่างประเทศ ก็ใช้วิธีการนี้ แต่เปลี่ยนเป็นกับข้าวบาเล่ย์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ และรับมือกับภัยแล้งได้ตลอดปี” ผศ.ถนอม กล่าวทิ้งท้าย

ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยนครพนม

ขอขอบคุณ : เพจนครพนมโฟกัส

HOT LINK