รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • แนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยนครพนมเพื่อร่วมมือกับมาตรการภาครัฐ ในการลดการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงอุบัติใหม่ จากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 (Coronavirus Disease 2019)

แนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยนครพนมเพื่อร่วมมือกับมาตรการภาครัฐ ในการลดการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงอุบัติใหม่ จากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 (Coronavirus Disease 2019)

นางสาวอรปวีณ์ บัวชู 2020-03-17 20:59:36 1,098

แนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยนครพนมเพื่อร่วมมือกับมาตรการภาครัฐ ในการลดการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงอุบัติใหม่  จากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 (Coronavirus Disease 2019)

        ประกาศมหาวิทยาลัยนครพนม

เรื่อง แนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยนครพนมเพื่อร่วมมือกับมาตรการภาครัฐ

ในการลดการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงอุบัติใหม่ 

จากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 (Coronavirus Disease 2019)


        มหาวิทยาลัยนครพนม ให้ความสำคัญขั้นสูงสุดในการป้องกันและควบคุมการระบาดโรคติดต่อร้ายแรงอุบัติใหม่จากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง มาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) (ฉบับที่ 5) : การปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) ประกาศ ณ วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563  ได้รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดรุนแรงในวงกว้างขึ้น และยืดเยื้อยาวนาน เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ สามารถปฏิบัติงานเพื่อป้องกัน ชะลอ และบรรเทาผลจากการระบาด ลดความตื่นตระหนกของคนในสังคม และสนับสนุนการจัดการวิกฤตในครั้งนี้ของประเทศ มหาวิทยาลัยนครพนมจึงขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยนครพนมพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1.การจัดการเรียนการสอน

1.1 ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 งดการเรียนการสอนแบบบรรยายทุกประเภท ให้นำการสอนแบบออนไลน์มาใช้ทดแทนหรือเสริมการเรียนการสอนในรูปแบบปกติ ทั้งนี้ขอให้ยังคงความครบถ้วนของเนื้อหา เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้และทักษะตามผลลัพธ์การเรียนรู้ของรายวิชา โดยคณาจารย์ผู้ดำเนินการสอนแบบออนไลน์สามารถศึกษาเครื่องมือช่วยจัดการสอนแบบออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักเทคโนโลยีดิจิทัล (http://dc.npu.ac.th) หรือติดต่อ dc@npu.ac.th

1.2 ให้ผู้สอนดำเนินการสอนแบบออนไลน์ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังต่อไปนี้

1) แจ้งนักศึกษาให้เข้าใจถึงความจำเป็นในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของ

โรค COVID-19 แล้วจัดการเรียนการสอนไปในรูปแบบที่มีการตกลงร่วมกัน

2) แจ้งแผนการเรียน กิจกรรมหรืองานที่มอบหมาย แบบประเมินต่าง ๆ โดยใช้ระบบออนไลน์สนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับนักศึกษา ทั้งนี้กำหนดช่องทางและช่วงเวลาในแต่ละสัปดาห์

ให้ชัดเจน

3) ตรวจสอบติดตาม และประเมินความก้าวหน้าในการเรียนของนักศึกษาทุกคนอย่างต่อเนื่อง

1.3 การสอบปลายภาค ให้คณบดี/ผู้อำนวยการ พิจารณาหลีกเลี่ยงการเข้าสอบร่วมกันในหลายชั้นเรียน อันเป็นเหตุให้ต้องมีการรวมกันของนักศึกษาและบุคลากรจำนวนมาก โดยพิจารณาใช้รูปแบบการสอบด้วยข้อสอบแบบออนไลน์ที่กำหนดเวลารับและส่งข้อสอบตามเวลากำหนด และยังคงประสิทธิภาพ

การวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามเป้าหมายการเรียนรู้ของรายวิชาตามหลักสูตร ทั้งนี้หากไม่สามารถดำเนินการได้โดยยังคงต้องจัดสอบในห้องสอบ ให้คณะ/วิทยาลัย จัดให้มีจุดคัดกรองอาการ วัดอุณหภูมิ และติดป้ายสัญลักษณ์แสดงการผ่านจุดคัดกรอง  จัดให้มีแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ  พร้อมทั้งจัดให้มีการบันทึกข้อมูลผู้เข้าร่วมอย่างครบถ้วน รวมถึงจัดหาหน้ากากอนามัยตามความเหมาะสม

1.4 การฝึกงานในรายวิชาสหกิจศึกษาและวิชาฝึกงาน ที่จะต้องดำเนินการในช่วงเวลานี้นั้น ขอให้ยกเลิก สำหรับการฝึกงานที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ให้คณะกรรมการผู้รับผิดชอบหลักสูตรและคณบดี/ ผู้อำนวยการเป็นผู้พิจารณาสถานการณ์ติดเชื้อโรคของนักศึกษาเป็นรายบุคคลและสถานประกอบการ โดยหากมีความจำเป็นขอให้ชะลอหรือหยุดการฝึกงานไว้พลางก่อน โดยหารือร่วมกันกับสถานประกอบการและนักศึกษาเป็นสำคัญ


2. การปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรของมหาวิทยาลัยนครพนม

2.1 ขอให้คณะ/วิทยาลัย/สำนัก/สถาบัน/หน่วยงาน ในสังกัดมหาวิทยาลัยนครพนม วางแผน ซักซ้อมและเตรียมการให้เกิดการทำงานที่บ้าน (Work from Home)  เพื่อลดการเดินทางและลดการสัมผัส

เชื้อโรคให้มากที่สุด 

2.2 ขอให้คณะ/วิทยาลัย/สำนัก/สถาบัน/หน่วยงาน พิจารณาการเหลื่อมเวลาทำงาน และเวลาพักกลางวัน เพื่อลดความหนาแน่นของการอยู่ร่วมกันในระบบขนส่ง หรือในร้านอาหาร

2.3 งดกิจกรรมของคณะ/วิทยาลัย/สำนัก/สถาบัน/หน่วยงาน ได้แก่ กิจกรรมที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน กิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก กิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กิจกรรมที่มีชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศเข้าร่วม หรือกิจกรรมอื่นที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ เป็นต้น

2.4 ให้ผู้บริหารคณะ/วิทยาลัย/สำนัก/สถาบัน/หน่วยงาน ติดตามการปฏิบัติงาน ภาระงาน และเกณฑ์การปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการปฏิบัติงานที่บ้าน รวมทั้งการปฏิบัติงานในรูปแบบต่าง ๆ ของบุคลากรในห้วงเวลานี้ โดยยังคงประสิทธิภาพ และดำรงไว้ซึ่งประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ


3. การจัดเตรียมทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

3.1 กำหนดมาตรการควบคุมดูแลการผ่านเข้า-ออก คณะ/วิทยาลัย/สำนัก/สถาบัน/หน่วยงาน อย่างเคร่งครัด ทั้งยานพาหนะ และบุคคลทั่วไป โดยจัดให้มีจุดคัดกรองอาการเพื่อวัดอุณหภูมิ และติดป้ายสัญลักษณ์แสดงการผ่านจุดคัดกรอง พร้อมจุดติดตั้งแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือ สบู่ล้างมือในบริเวณพื้นที่ หรืออาคารที่มีผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งกำหนดให้เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่ปฏิบัติงานเป็นประจำ มีป้ายแสดงตนเพื่อคัดแยกบุคคลภายนอกให้ชัดเจน

3.2 กำหนดศูนย์ประสานงานเฉพาะกิจในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยด่วน สำหรับเป็นศูนย์แจ้งเหตุและทำหน้าที่ประสานงานทั้งภายในคณะ/วิทยาลัย/สำนัก/สถาบัน/หน่วยงาน และประสานงานกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรภายในหน่วยงานได้รับทราบ โดยให้แจ้งรายละเอียดการติดต่อและผู้รับผิดชอบรายงานต่อกระทรวง

การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)


4. การสื่อสารและการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ฉุกเฉิน

4.1 ช่องทางการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนครพนมได้เปิดช่องทางการสื่อสารให้นักศึกษา บุคลากร  และประชาชนภายนอก  สามารถสอบถามรายละเอียดและรับข่าวสารที่เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง 

ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

1) Line Official : NPUThailand

2) www.npu.ac.th

3) จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) @npu.ac.th

4) Facebook fanpage : NPUThailand

5) Faecbook fanpage : NPUFamily

6) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม หมายเลขโทรศัพท์ 084-103-5198

4.2 ขอความร่วมมือบุคลากรของมหาวิทยาลัย ให้ติดตามข้อมูลสถานการณ์ และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคจากเชื้อ COVID-19 จากแหล่งข้อมูลของทางการที่เชื่อถือได้เท่านั้น 

โดยอาศัยวิจารณญาณและการตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้นอย่างเข้มข้นเสียก่อนที่จะสื่อสารต่อไป รวมถึง

ขอความร่วมมืองด Post และ Share ข้อความใด ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคจากเชื้อไวรัส 

COVID-19 จากแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ ในช่องทางสื่อสารหลักของมหาวิทยาลัย อันจะทำให้สังคมเกิด

ความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อสถานการณ์ที่แท้จริง และส่งผลต่อการดำเนินการตามมาตรการต่างของรัฐ

4.3 ใช้แผนปฏิบัติการเพื่อความต่อเนื่องของการปฏิบัติงาน (Business Continuity Plan) ที่ได้จัดทำไว้แล้ว เพื่อให้สามารถให้บริการนักศึกษา และประชาชน รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดการหยุดชะงักและไม่มีผลเสียต่อการปฏิบัติงาน

4.4 ดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของนักศึกษา และบุคลากร ทั้งในสถานที่และนอกสถานที่ รวมทั้งมีระบบการติดต่อสื่อสารทั้งในเชิงบริหารและเชิงการดูแลบุคลากร

ทั้งนี้ ให้คณะ/วิทยาลัย/สำนัก/สถาบัน/หน่วยงาน รายงานข้อมูล หรือเหตุการณ์ผิดปกติต่าง ๆ ต่อ มหาวิทยาลัยนครพนมโดยด่วน เพื่อร่วมกันควบคุมสถานการณ์นี้

                                        จึงประกาศมาเพื่อพิจารณาปฏิบัติต่อไป

                                                        ประกาศ ณ วันที่ 17  มีนาคม พ.ศ. 2563 


HOT LINK