รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ม.นครพนม ร่วมกับ อ.โพนสวรรค์ จัดกิจกรรมทอดผ้าป่าขยะ นำร่องตำบลต้นแบบลดปริมาณขยะในชุมชน

ม.นครพนม ร่วมกับ อ.โพนสวรรค์ จัดกิจกรรมทอดผ้าป่าขยะ นำร่องตำบลต้นแบบลดปริมาณขยะในชุมชน

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2020-03-18 12:18:39 876

ม.นครพนม ร่วมกับ อ.โพนสวรรค์ จัดกิจกรรมทอดผ้าป่าขยะ นำร่องตำบลต้นแบบลดปริมาณขยะในชุมชน

มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกับอำเภอโพนสวรรค์ องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชน และประชาชนชาวอำเภอโพนสวรรค์ ร่วมกันจัดโครงการทอดผ้าป่าขยะ หวังช่วยลดปริมาณของขยะในชุมชน มีชาวบ้านในตำบลโพนสวรรค์ทั้ง 12 หมู่บ้าน ขนขยะใส่รถกระบะแห่จากที่ว่าการอำเภอโพนสวรรค์ มายังบริเวณภายในวัดแห่รอบพระอุโบสถ จากนั้นได้ประกอบพิธีทอดผ้าป่าขยะก่อนจะนำขยะมาทำการคัดแยกโดยคณะกรรมการธนาคารขยะชุมชน มีนักเรียน ชาวบ้าน ได้พากันนำขวดพลาสติก ขวดแก้ว ลังกระดาษ สังกะสี และขยะอื่น ๆ ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยมีผู้ประกอบการเอกชนมารับซื้อขยะถึงที่ 

นายบำรุง ศรีลาชัย นายอำเภอโพนสวรรค์ กล่าวว่า โครงการผ้าป่าขยะชุมชนถือเป็นจุดเริ่มต้นของประชาชนชาวอำเภอโพนสวรรค์ ที่ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการรักษาความสะอาดชุมชนร่วมกัน นอกจากเป็นการสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนเองแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน เห็นคุณค่ารักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งขยะที่นำมาทอดถวายในครั้งนี้ประมาณ 1,000 กิโลกรัม

“เป็นโครงการที่ชุมชนได้ร่วมกันคิด เป็นความร่วมมือทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยนครพนม องค์การบริหารส่วนตำบล และทางอำเภอเรา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งในเรื่องของการจัดการขยะ-การแยกขยะ / ปริมาณการใช้ขยะของเราก็ยังไม่เยอะ เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะดูแลและควบคุมได้ เพียงแต่ว่าถ้าหากโครงการนี้เข้ามาเสริมหมู่บ้าน ชุมชนของเราก็จะมีความสะอาดขึ้น มีการกำจัดขยะที่เป็นระบบมากขึ้น” นายบำรุง กล่าว.

น.ส.พัชญทัฬห์ กิณเรศ นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม เปิดเผยว่า โครงการผ้าป่าได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 จากการลงสำรวจพื้นที่ชุมชนที่มีปริมาณขยะสะสม และได้พูดคุยหารือกับผู้นำชุมชนต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่ เช่น ตำบลนาราชควาย ตำบลขามเฒ่า และตำบลโพนสวรรค์ เพื่อส่งเสริมการคัดแยะขยะในชุมชน ทำให้ชุมชนมีความสะอาดมากขึ้น รวมถึงการปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น นักเรียน และประชาชน มีระบบการบริหารจัดการขยะด้วยตนเองอย่างเป็นระบบ ก่อให้เกิดความรักความสามัคคี และรายได้ของคนในชุมชน น.ส.พัชญทัฬห์ กล่าว.

หลังจากเกิดโครงการ ฯ นี้ขึ้น พบว่าชุมชนมีการจำกัดขยะอย่างเป็นระบบ ปริมาณขยะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ชุมชนมีความสะอาดและเป็นระเบียบ สามารถสร้างรายได้จากขยะและการแปรรูปสินค้าจากขยะเป็นรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว ซึ่งนอกจากเป็นการนำร่องตำบลโพนสวรรค์ให้เป็นตำบลต้นแบบ ต่อจากนี้จะมีการขยายผลไปยังตำบลต่าง ๆ ในอำเภอโพนสวรรค์ เพื่อให้กิจกรรมนี้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยนครพนม

HOT LINK