รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • วิทยาลัยการบินนานาชาติ ร่วมกับ วิทยาลัยพยาบาล ฯ ม.นครพนม จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ

วิทยาลัยการบินนานาชาติ ร่วมกับ วิทยาลัยพยาบาล ฯ ม.นครพนม จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ

นายระพีพัชร ภัคธนาชัยวงษ์ 2020-10-20 16:13:23 557

วิทยาลัยการบินนานาชาติ ร่วมกับ วิทยาลัยพยาบาล ฯ ม.นครพนม จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. วิทยาลัยการบินนานาชาติ ร่วมกับ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนมจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ : กลุ่มจังหวัดสนุก โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นาวี อุดร ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม เป็นประธานเปิดโครงการ ฯ และได้รับเกียรติจาก นาวาอากาศเอก มนตรี จีระปัญญา อดีตหัวหน้าพยาบาลเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง "การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ" เพื่อสร้างความเข้าใจในการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ และตระหนักต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมีนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการการบิน บุคลากรจากหน่วยกู้ภัย และผู้ที่สนใจจากหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดนครพนม เข้าร่วมอบรมกว่า 50 คน ณ ห้องประชุมชั้น 2 (ภัตตาคาร) และลานจอดเครื่องบิน ท่าอากาศยานนครพนม

อาจารย์เพ็ชร คชรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการการบิน วิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม ให้สัมภาษณ์ว่า การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ โดยใช้อากาศยาน จะช่วยเหลือชีวิตของคนไข้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนฉุกเฉิน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กลุ่มจังหวัดสนุก (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร บึงกาฬ) เป็นเขตพื้นที่มีภูมิศาสตร์เป็นที่ราบสูง หน่วยกู้ภัยแบบวิธีการอื่น อาจเข้าถึงได้ยาก จึงเริ่มต้นให้มีการฝึกฝนวิธีการกู้ภัยและลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ ให้กับเจ้าหน้าที่กู้ภัย เจ้าหน้าที่กู้ชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ ด้านนาวาอากาศเอกมนตรี จีระปัญญา อดีตหัวหน้าพยาบาลเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศ กล่าวว่า การขนส่งผู้ป่วยโดยอากาศยานทำได้ดีที่สุด เพราะอากาศยานมีความเร็ว ทำให้เข้าถึงทุกพื้นที่ ถ้าพื้นที่ไหนมีสนามบิน หรือถ้าใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ก็จะเข้าได้ทุกพื้นที่มากกว่า เนื่องจากการใช้อากาศยานสามารถลำเลียงผู้ป่วยจากพื้นที่ห่างไกลเข้ามารักษา ณ ศูนย์พยาบาลที่ทันสมัย และยิ่งเข้ามารักษาได้ไว ก็จะทำให้อาการผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลน้อยลง ซึ่งหากว่าในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ก็สามารถเอาคนไข้เข้ามาหาแพทย์เฉพาะทางที่อยู่ในเมืองใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ นายวณัญกฤต บุตรกันหา พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นโครงการที่ดีมาก เป็นโอกาสในการนำความรู้ด้านการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศไปใช้ เพราะนครพนมเป็นเมืองหน้าด่าน และอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งถ้าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง จะมีผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางเข้าไปรักษาตัวในเมืองใหญ่มีมากขึ้น ทั้งในประเทศ และคนไข้ที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งหลังจากการอบรมในวันนี้ ก็จะได้นำเอาความรู้ตรงนี้ไปใช้การช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการลำเลียงโดยอากาศยานอย่างแน่นอน

สำหรับกลุ่มจังหวัดสนุก ประกอบด้วยจังหวัด นครพนม มุกดาหาร และสกลนคร เป็นพื้นที่ตามแนวชายแดนแม่น้ำโขง เนินเขาสูง และเกษตรกรรม การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงได้ยากเมื่อเกิดเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในอนาคตมีการเพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรมการส่งออก การท่องเที่ยว การคมนาคม ทั้งทางบก ทางระบบราง และทางอากาศ ซึ่งต้องมีแผนการรองรับ เมื่อเกิดเหตุการป่วยฉุกเฉินทางเลือกใหม่เพื่อคนไทย สถิติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้รอดชีวิตได้ถึง ร้อยละ 97.9 ทั้งนี้ืทาง วิทยาลัยการบินนานาชาติ และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ร่วมมือทำงานวิจัย การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ ที่เหมาะสมกับกลุ่มจังหวัดสนุก โดยเบื้องต้นเป็นการจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ และร่างหลักสูตรการฝึกอบรมการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ(ระยะสั้น) ตลอดจนการให้บริการวิชาการแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยนครพนมได้ในอนาคต เพื่อตอบโจทย์ให้กับสังคมในยุคปัจจุบัน เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกระตุ้นการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดสนุกและประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไป

ภาพ/ข่าว : งานวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร กองกลาง (กองบริหารงานทั่วไป) สำนักงานอธิการบดี
อัลบั้มภาพทั้งหมด : https://www.facebook.com/media/set/?vanity=npufamily&set=a.719918965400152

HOT LINK