รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • บุคลากร ม.นครพนม เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรก เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคติดต่อร้ายแรง (โควิด-19)

บุคลากร ม.นครพนม เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรก เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคติดต่อร้ายแรง (โควิด-19)

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2021-05-18 17:16:53 1,160

บุคลากร ม.นครพนม เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มแรก เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคติดต่อร้ายแรง (โควิด-19)

วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา ประสานตรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมด้วยอาจารย์เอื้อ มูลสิงห์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม และนายพัฒน์ธวัตร์ เอี่ยมสม ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม เดินทางเข้าร่วมการฉีดวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ที่โรงพยาบาลนครพนม ตามการบริหารจัดสรรวัคซีนของจังหวัดนครพนม โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยนครพนมเข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวน 86 คน ซึ่งทั้งหมดในวันนี้ได้รับการฉีดเป็นเข็มแรก และจะรับการฉีดเข็มที่สอง ในวันที่ 8 มิถุนายน 64

การฉีดวัคซีน คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคติดต่อร้ายแรง วัคซีนอาจผลิตจากเชื้อไวรัส หรือ เชื้อแบคทีเรียที่อ่อนตัวแล้ว หรือส่วนประกอบของเชื้อ แล้วนำมาฉีดเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ

ซิโนแวค (Sinovac) ถูกอนุมัติให้ใช้งานได้จากองค์กรกำกับเรื่องยาที่ประเทศจีนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ผลิตวัคซีนออกมาแล้ว จำนวน 260 ล้านโดส ปัจจุบันถูกใช้งานใน 32 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

ด้านนายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยเกี่ยวกับประเด็นวัคซีนในภาพรวมของจังหวัดว่า การรับวัคซีนจังหวัดนครพนมได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งฉีดไปแล้วจำนวนกว่า 8,000 คน ระยะที่ 2 เป็นกลุ่มบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ซึ่งปิดรับลงทะเบียนไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 โดยการลงทะเบียนฉีดวัคซีนเป็นที่น่าพอใจ จังหวัดนครพนมมีคนลงทะเบียนมากถึง 171,556 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 64.51 เปอร์เซ็นต์ จากที่ตั้งเป้าไว้ทั้งหมด 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนครพนมเป็นจังหวัดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีการจองวัคซีนเป็นจำนวนมาก เป็นไปตามแผนที่ทางจังหวัดต้องการให้ประชาชนได้รับวัคซีนให้มากที่สุด

ส่วนระยะที่ 3 เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18-59 ปี เป็นวัคซีน AstraZeneca ซึ่งจะเข้ามาถึงในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 โดยเป้าหมายของระยะที่ 3 นี้ สาธารณสุขจังหวัดตั้งเป้าประชาชนจะต้องลงทะเบียนอย่างน้อย 70-80 เปอร์เซ็นต์ หรือจำนวน 5 แสนกว่าคนของประชากรทั้งหมดที่มี 7 แสนกว่าคน ซึ่งระยะนี้สามารถลงทะเบียนรับวัคซีนได้แล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตามรายละเอียดของกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ (30:50:20)

-30 เปอร์เซ็นต์ : เป็นการลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” และ “NPM-COVID 19”
-50 เปอร์เซ็นต์ : เป็นลักษณะของหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ที่รวบรวมกันเป็นปริมาณมาก ๆ นัดหมายการฉีดกับโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ โดยโรงพยาบาลจะทำการนัดฉีดเป็นวัน ๆ ไป
-20 เปอร์เซ็นต์ : เป็นลักษณะการ walk in เข้ามารับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนเองที่โรงพยาบาล

ส่วนวันที่จะได้รับการฉีดวัคซีนประมาณหลังวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป หรือหากกรณีที่วัคซีนมาก่อนก็จะดำเนินการฉีดให้ทันที สำหรับประชาชนหลายคนที่มีความกังวลในเรื่องของการฉีดวัคซีน เกรงว่าจะเป็นอันตรายเกิดภาวะแทรกซ้อน อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเพียงข่าวลวงที่ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามในจังหวัดนครพนมมีจำนวนหนึ่งที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการมาก เช่น มีผื่นขึ้นตามตัวหลังรับวัคซีน เจ็บปวดบริเวณที่ฉีด วิงเวียนศีรษะ แขนขาอ่อนแรง ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่จะหายไปเองใน 1-3 วัน อย่างเคสของนครพนมที่เกิดขึ้นผู้รับวัคซีนอาการเริ่มดีขึ้นและหายเองเป็นปกติภายใน 2 วัน

แต่ก็มีหลายคนสอบถามถึงมาตรการเยียวยาจ่ายเงินทดแทนหากการฉีดวัคซีนไปแล้วเกิดผลข้างเคียง ซึ่งทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยแล้วว่า ในกรณีที่ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร จะเยียวยาให้ไม่เกิน 400,000 บาท หากพิการ สูญเสียอวัยวะ จะเยียวยาให้ไม่เกิน 240,000 บาท หรือหากเกิดการบาดเจ็บเรื้อรัง (รักษาต่อเนื่อง) จะเยียวยาให้ไม่เกิน 100,000 บาท นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าว

ทั้งนี้ขอเชิญชวนบุคลากรมหาวิทยาลัยนครพนมทุกคน เข้าร่วมการรับจองลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี
อัลบั้มภาพข่าวทั้งหมด : https://www.facebook.com/media/set/?vanity=npufamily&set=a.845439616181419

HOT LINK