รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • บุคลากร ม.นครพนม เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคติดต่อร้ายแรง (โควิด-19)

บุคลากร ม.นครพนม เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคติดต่อร้ายแรง (โควิด-19)

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2021-06-09 14:51:22 714

บุคลากร ม.นครพนม เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคติดต่อร้ายแรง (โควิด-19)

วันที่ 8 มิถุนายน 2564 รองศาสตราจารย์ทัศนา ประสานตรี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมด้วยอาจารย์เอื้อ มูลสิงห์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม และนายพัฒน์ธวัตร์ เอี่ยมสม ผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม เดินทางเข้าร่วมการฉีดวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ที่ศาลายงใจยุทธ ศาลากลางจังหวัดนครพนม ตามการบริหารจัดสรรวัคซีนของจังหวัดนครพนม โดยมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยนครพนมเข้ารับการฉีดวัคซีน จำนวน 86 คน ซึ่งทั้งหมดในวันนี้ได้รับการฉีดครบเป็นเข็มที่สองแล้ว

การฉีดวัคซีน คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อป้องกันการติดต่อของโรคติดต่อร้ายแรง วัคซีนอาจผลิตจากเชื้อไวรัส หรือ เชื้อแบคทีเรียที่อ่อนตัวแล้ว หรือส่วนประกอบของเชื้อ แล้วนำมาฉีดเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ

สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนของจังหวัดนครพนมในภาพรวมนั้น ได้มีการจัดเรียงลำดับการลงทะเบียนไว้ทั้งหมดแล้ว จากที่ประชาชนมีที่ลงทะเบียนจองวัคซีนผ่านระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การจองผ่าน application “หมอพร้อม” “นครพนมพร้อม” หรือบางคนโทรศัพท์ไปจองที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) แม้กระทั่งเดินทางไปจองด้วยตนเอง รวมไปถึง อสม. ที่ไปเคาะประตูบ้านสอบถาม ซึ่งในรอบวันที่ 7-11 มิถุนายน เป็นรอบของกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรังที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca มา 12,100 โดส โดยผู้ที่จะได้รับวัคซีนในรอบนี้จะได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ไปยังเจ้าตัวเพื่อให้เข้ารับวัคซีนในห้วงเวลาดังกล่าว ส่วนผู้ที่เหลือจะได้รับการประสานเช่นเดียวกันเมื่อวัคซีนมาในรอบถัดไป

นอกจากล๊อตนี้จังหวัดนครพนมยังได้รับการจัดสรรวัคซีน Sinovac มาเพิ่มเติมอีกจำนวน 920 โดส ดังนั้นในส่วนนี้จึงได้จัดสรรให้บุคลากรทางการศึกษาก่อน เพราะมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียน โดยคาดว่าบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับครบทุกคนที่มีการจองลงทะเบียนก่อนเปิดภาคเรียน

ด้าน นายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ขอยืนยันว่าทุกคนที่ลงทะเบียนเข้ามาไม่ว่าจะผ่านช่องทางใดจะได้รับวัคซีนอย่างแน่นอน แม้กระทั่งกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สะดวกในการช่วยเหลือตนเอง ทางคณะกรรมการโรคติดต่อก็ได้มีการวางแผนการฉีดวัคซีนให้ ซึ่งจะต่างจากกลุ่มอื่น ๆ โดยแผนวางไว้คือ แผน drive cruise ที่เบื้องต้นได้มอบนโยบายให้แต่ละโรงพยาบาลประสานขอความร่วมมือไปยัง อบต. และเทศบาลต่าง ๆ ที่มีรถฉุกเฉินอยู่แล้วในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงมารับบริการ หรือให้ตรวจสอบว่าบ้านของผู้ป่วยติดเตียงบ้านไหนที่มีรถยนต์เป็นของตนเองและสะดวกจะเดินทางมารับบริการ โดยจะให้ผู้ป่วยอยู่บนรถที่กล่าวมาข้างต้นตลอดเวลาที่มารับบริการ ไม่ต้องเคลื่อนย้ายอะไรอีกแล้ว

“ยกตัวอย่างว่าในอำเภอเมืองนครพนม มีผู้ป่วยติดเตียง 100 คน เราจะกำหนดไว้ที่ 10 วัน ๆ ละ 10 คน ก็จะประสานให้ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและพนักงานขับรถนำผู้ป่วยเข้ามาที่จุดฉีดวัคซีนที่จัดไว้ให้ เมื่อรับบริการเสร็จแล้วตามขั้นตอนกระบวนการทั้งหมด ก็สามารถกลับบ้านได้เลย รถคันต่อมาก็จะวิ่งเข้ามาต่อตามลำดับการนัดหมาย ซึ่งตรงนี้เป็นนโยบายที่วางไว้ เพื่อที่จะให้แต่ละโรงพยาบาลไปคิดดูว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความสะดวกที่สุดและปลอดภัยที่สุดเมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนมา เนื่องจากเราไม่มีนโยบายให้บุคลากรลงพื้นที่ไปฉีดตามบ้าน เพราะไม่มีความปลอดภัย อีกทั้งการฉีดในแต่ละครั้งต้องมีทั้งทีมแพทย์ที่เฝ้าสังเกตอาการ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการดูแลรักษาพยาบาล หากเกิดเหตุฉุกเฉินรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อีก” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าว

ส่วนมาตรการเยียวยาจ่ายเงินทดแทนหากการฉีดวัคซีนไปแล้วเกิดผลข้างเคียง ซึ่งทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยแล้วว่า ในกรณีที่ฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร จะเยียวยาให้ไม่เกิน 400,000 บาท หากพิการ สูญเสียอวัยวะ จะเยียวยาให้ไม่เกิน 240,000 บาท หรือหากเกิดการบาดเจ็บเรื้อรัง (รักษาต่อเนื่อง) จะเยียวยาให้ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ขอเชิญชวนบุคลากรมหาวิทยาลัยนครพนมทุกคนเข้าร่วมการรับจองลงทะเบียน เพื่อรับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคติดต่อร้ายแรง (โควิด-19)

ภาพ : งานเลขานุการ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี

ข่าว : งานสื่อสารองค์กร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี


HOT LINK