รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • นักวิจัย ม.นครพนม ร่วมทีม พช.นครพนม นำเสนอ กาละแมข้าวฮางงอกไรซ์เบอร์รี่ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ จังหวัดดีเด่น ประจำปี 2564

นักวิจัย ม.นครพนม ร่วมทีม พช.นครพนม นำเสนอ กาละแมข้าวฮางงอกไรซ์เบอร์รี่ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ จังหวัดดีเด่น ประจำปี 2564

นางสาววรรณวชิรา จันทะเมธี 2021-09-09 16:51:36 1,361

นักวิจัย ม.นครพนม ร่วมทีม พช.นครพนม นำเสนอ กาละแมข้าวฮางงอกไรซ์เบอร์รี่ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ จังหวัดดีเด่น ประจำปี 2564

จังหวัดนครพนม โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ร่วมกับคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัด และมหาวิทยาลัยนครพนม ได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์ “กาละแมข้าวฮางงอกไรซ์เบอร์รี่” ของกลุ่มตุ๊กตากาละแมโบราณ บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 1 ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม เข้าร่วมประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) จังหวัดดีเด่น ประจำปี 2564 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting เมื่อวันที่ 24 – 26 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา จัดประกวดโดย กรมการพัฒนาชุมชน ผลปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์ “กาละแมข้าวฮางงอกไรซ์เบอร์รี่” ของกลุ่มตุ๊กตากาละแมโบราณ บ้านเลขที่ 3 หมู่ที่ 1 ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนมจังหวัดนครพนม คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 

กาละแม จังหวัดนครพนม ขนมไทยสูตรโบราณมีการสืบทอดสูตรการทำจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานในปัจจุบัน โดยนำเอา แป้งข้าวเหนียว น้ำกะทิ น้ำตาล มากวนให้เข้ากัน ใช้เวลาในการกวน 3 - 4 ชั่วโมง ห่อด้วยใบตองที่ผ่านการรีดด้วยเตาถ่านโบราณให้แห้งสนิท เพื่อให้มีกลิ่นหอม ชวนน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น และเรียกชื่อขนมนี้ว่า กาละแม เป็นหนึ่งในสินค้า OTOP ของจังหวัดนครพนมที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพื่อเลือกซื้อเป็นของฝาก ซึ่งแหล่งผลิตกาละแมในจังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอธาตุพนม

จากบทสัมภาษณ์ของรองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อดีตรักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ที่ได้รับกระแสพระราชดำรัส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในครั้งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยนครพนม ประจำปีการศึกษา 2563 มีใจความตอนหนึ่งว่า “..กาละแมของจังหวัดนครพนมเป็นของอร่อยและขึ้นชื่อแต่เก็บได้ไม่นาน จะทำอย่างไรให้กาละแม สามารถจัดเก็บและมีอายุได้นานมากขึ้น..” ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ฝากให้จังหวัดนครพนมและมหาวิทยาลัยนครพนมได้ไปช่วยกันศึกษาแนวทางแก้ปัญหานี้

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม จึงได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยนครพนม โดย ทีมนักวิจัยจากชุดแผนงานวิจัย “โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรม และการสร้างสรรค์ชุมชนพึ่งพาตนเอง ด้วยจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ประสานสู่แผนพัฒนาพื้นที่ในระดับจังหวัด One Plan” มหาวิทยาลัยนครพนม ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย อาจารย์ ดร.คมศักดิ์ หารไชย ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย ผศ.ดร.หทัยกาญจน์ กกแก้ว หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 ผศ.ดร.ณัฐนันท์ เที่ยงธรรม หัวหน้าโครงการย่อยที่ 2 ผศ.ดร.กชกร เดชะคำภู หัวหน้าโครงการย่อยที่ 3 อาจารย์สมชัย วะชุม หัวหน้าโครงการย่อยที่ 4 นางสาวอุษา ประชากุล และนางสาวณัชชา ปาพรม นักออกแบบผลิตภัณฑ์ จากมหาวิทยาลัยนครพนม ที่ร่วมเป็นที่ปรึกษา เครือข่ายองค์ความรู้ KBO ได้ร่วมต่อยอดงานวิจัยในโครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหา โดย ผศ.ดร.หทัยกาญจน์ กกแก้ว หัวหน้าโครงการย่อยที่ 1 อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีอาหาร คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยฯ พัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม จากมหาวิทยาลัยนครพนม ผ่าน “โครงการวิจัยการพัฒนาผงข้าวทนย่อยข้าวกล้องงอกไรซ์เบอร์รี่และสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชันและจุลินทรีย์ต่อคุณภาพและการยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์กาละแมในจังหวัดนครพนม” ซึ่งเป็นการวิจัยจากโจทย์ของเครือข่ายองค์ความรู้ KBO ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรม และนวัตกรชุมชน ให้สามารถพัฒนาตนเอง และชุมชน นำผลงานวิจัยที่ได้ มาต่อยอดในงานวิจัยเพื่อการพัฒนากาละแม นครพนม

จากการวิจัยและพัฒนาสามารถแก้ปัญหาได้ โดยทำเป็นกาละแมโบราณเพื่อสุขภาพ โดยเปลี่ยนวัตถุดิบจากแป้งข้าวเหนียวเป็นผงข้าวกล้องงอกไรซ์เบอร์รี่ ที่มีสารแอนไซไซยานิน (สีม่วง) และกาบา (Gamma aminobutyric acid) โดยซื้อผงข้าวกล้องงอกไรซ์เบอร์รี่จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตข้าวคุณภาพดีหนองนาด่อน อำเภอวังยาง จังหวัดนครพนม ลดปริมาณน้ำตาลด้วยสารทดแทนน้ำตาล ลดปริมาณกะทิด้วยสารทดแทนไขมัน แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ คือห่อด้วยใบตองที่ผ่านการรีดด้วยเตาถ่านโบราณแห้งสนิท ทำให้กาละแม มีกลิ่นหอมของใบตอง และรักษารสชาติไว้ได้คงที่ เหนียวนุ่ม หวาน มัน อร่อย สำหรับการบรรจุเป็นแบบสุญญากาศเพื่อป้องกันออกซิเจนและความชื้น แบ่งบรรจุซองย่อย ขนาดพอดีคำ รับประทานได้ง่าย และเพิ่มความสะดวกในการบริโภค สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ถึง 60 วัน ในอุณหภูมิปกติ มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย เหมาะสมกับพลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนา และความต้องการของตลาด สะดวกสบายในการเดินทางหรือขนส่ง ในส่วนของผู้อยู่ไกล้ก็สามารถเลือกซื้อแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นชะลอมไม้ไผ่ ที่สามารถหิ้วได้สะดวก สวยงาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1. พช.นครพนม จับมือกับคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ KBO จังหวัดนครพนม บูรณาการสร้างสรรค์ผลงาน “กาละแมข้าวฮางงอกไรซ์เบอร์รี่”  เข้าร่วมประกวดผลงานเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) จังหวัดดีเด่น ประจำปี 2564 

2. พช.นครพนม คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดและเผยแพร่ผลการดำเนินงานเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) จังหวัดดีเด่น ประจำปี 2564 


HOT LINK