รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ม.นครพนม บูรณาการร่วมกับเทศบาลเมืองนครพนม เปิดเส้นทางเก็บขนขยะอาหารนำร่องชุมชนวัดมหาธาตุ หวังลดปริมาณขยะอาหาร และบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ตามแผนปฏิบัติการจังหวัดสะอาด

ม.นครพนม บูรณาการร่วมกับเทศบาลเมืองนครพนม เปิดเส้นทางเก็บขนขยะอาหารนำร่องชุมชนวัดมหาธาตุ หวังลดปริมาณขยะอาหาร และบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ตามแผนปฏิบัติการจังหวัดสะอาด

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2022-12-05 10:19:18 469

ม.นครพนม บูรณาการร่วมกับเทศบาลเมืองนครพนม เปิดเส้นทางเก็บขนขยะอาหารนำร่องชุมชนวัดมหาธาตุ หวังลดปริมาณขยะอาหาร และบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ตามแผนปฏิบัติการจังหวัดสะอาด

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม บูรณาการร่วมกับเทศบาลเมืองนครพนม จัดกิจกรรมการเปิดเส้นทางเก็บขนขยะอาหารนำร่องชุมชนวัดมหาธาตุ เขตเทศบาลเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม (Kick off Food Waste) เพื่อพัฒนาต้นแบบการลดปริมาณขยะอาหารในพื้นที่ โดยนำร่องชุมชนวัดมหาธาตุ ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ให้เกิดกระบวนการทำงานเชิงบูรณาการ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ความยั่งยืน ซึ่งมีนายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม เป็นประธาน และมีนางภาวิณี โสมณวัฒน์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองนครพนม กล่าวรายงาน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565

นางสาวพัชญทัฬห์ กิณเรศ นักวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย การศึกษา และพัฒนาต้นแบบการลดปริมาณขยะอาหาร ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนวัดมหาธาตุ เขตเทศบาลเมืองนครพนม” เพื่อศึกษาและพัฒนาต้นแบบการลดปริมาณขยะอาหารในพื้นที่ โดยเป็นการนำร่องชุมชนวัดมหาธาตุ ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในรูปแบบการลดปริมาณขยะอาหารให้แก่บุคลากรของเทศบาลเมืองนครพนมและผู้เกี่ยวข้อง และเพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานเชิงบูรณาการ ภายใต้แนวคิดเดียวกันคือ เศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ความยั่งยืน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชนวัดมหาธาตุ และเทศบาลเมืองนครพนม เป็นอย่างดี นางสาวพัชญทัฬห์ กล่าว

ด้าน นางภาวิณี โสมณวัฒน์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองนครพนม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ขยะอาหารของประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนขยะอินทรีย์สูงถึง ร้อยละ 64 ซึ่งมีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เนื่องจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีการแยกขยะ สำหรับภาคประชาชนก็ยังมีพฤติกรรมการทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ส่งผลให้ขยะเกิดกลิ่นเหม็นเน่า ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปัญหาขยะเหลือทิ้ง เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าลดปริมาณการสูญเสียอาหารลง ร้อยละ 50 ทั่วโลก ภายในปี 2573 โดยประเทศไทยได้นำเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน มาจัดทำเป็นแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2579 ซึ่งเป้าหมาย คือ จะต้องลดขยะอาหารให้ได้ ร้อยละ 5 ต่อปี สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน "จังหวัดสะอาด" ของจังหวัดนครพนม พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้ประชาชนครัวเรือน ร้อยละ 100 มีการจัดทำถังขยะเปียกเพื่อลดโลกร้อน

โดยกิจกรรมดังกล่าว เป็นการเพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจังหวัดสะอาด จังหวัดนครพนม ซึ่งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีการจัดวางระบบการเก็บขนขยะมูลฝอยแยกประเภท และปัจจุบันเทศบาลเมืองนครพนมได้มีรถเก็บขนขยะเปียกหรือขยะอาหารในเขตชุมชนเมือง โดยนำร่องชุมชนวัดมหาธาตุ เพื่อจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปหลุมฝังกลบ และลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน โดยนำขยะเปียกไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร และขับเคลื่อนการจัดการขยะเปียกในเขตเทศบาลเมืองนครพนม ตามบริบทของชุมชนเมืองและตามนโยบายของรัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก และดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ให้ระบบการจัดเก็บขยะมูลฝอยมีการแยกประเภทอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปัญหากลิ่นเหม็นจากน้ำขยะในชุมชม ลดปริมาณขยะเปียกหรือขยะอาหารที่ปะปนไปกับขยะประเภทอื่น ตลอดจนบริจาคขยะเปียกหรือขยะอาหารให้แก่เกษตรกร เพื่อช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้อีกด้วย นางภาวิณี กล่าว

กิจกรรม ฯ ครั้งนี้ มีคณะผู้บริหาร บุคลากรเทศบาลเมืองนครพนม และนักศึกษา มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกิจกรรม ณ บริเวณหน้าวัดมหาธาตุ ริมโขง เขตเทศบาลเมืองนครพนม อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม

ภาพ/ข้อมูล : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม

ข่าว : งานสื่อสารองค์กร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม

อัลบั้มภาพข่าว : https://www.facebook.com/media/set/?vanity=NPUThailand&set=a.5861646120567752

HOT LINK