รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ม.นครพนม จัดแถลงข่าวงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 24 “เกษตร DIY ง่าย ๆ พาลงมือทำ”

ม.นครพนม จัดแถลงข่าวงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 24 “เกษตร DIY ง่าย ๆ พาลงมือทำ”

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2023-01-11 17:57:14 702

ม.นครพนม จัดแถลงข่าวงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 24 “เกษตร DIY ง่าย ๆ พาลงมือทำ”

วันที่ 11 มกราคม 2566 คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม ได้จัดงานแถลงข่าว งานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 24 ภายใต้แนวคิด “เกษตร DIY ง่าย ๆ พาลงมือทำ” โดยมี นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในงานแถลงข่าว พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นาวี อุดร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม นางสาวสายสุณี ปั้นพงษ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง คณบดีคณะเกษตรและเทคโนโลยี ร่วมแถลงข่าว ณ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม เขตพื้นที่ศรีโคตรบูรณ์ (ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม)

นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า "จังหวัดนครพนม มีโครงสร้างพื้นฐาน และศักยภาพในการผลิตทางการเกษตรที่หลากหลายประกอบด้วย ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง และสินค้าเกษตรแปรรูป นอกจากนี้จังหวัดนครพนมยังมีสินค้า GI คือ สับปะรดท่าอุเทน ลิ้นจี่นครพนม ส่วนพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ทางจังหวัดได้มีนโยบายยกระดับการพัฒนาด้านการเกษตรตามความต้องการของพื้นที่ และความร่วมมือของชุมชน ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ หรือท้องถิ่น  ซึ่งจากแนวคิด “เกษตร DIY ง่าย ๆ พาลงมือทำ” ของการจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 24 นี้ ได้รวบรวมแนวคิดในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรแบบง่าย ๆ โดยมีนักวิชาการและผู้รู้พาลงมือทำจากเรื่องที่อยากให้ง่ายทุกคนสามารถทำได้ เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรและพึ่งพาตนเองได้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นาวี อุดร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า "การจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 24 เป็นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาบูรณาการเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการทำงาน การประกอบอาชีพ และพัฒนาอาชีพของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้มีคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งนี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566  ณ บริเวณคณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม”

นางสาวสายสุณี ปั้นพงษ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม กล่าวว่า “การจัดงานครั้งนี้  สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) มุ่งในการเสริมจุดแข็งและแก้ไขจุดอ่อนให้เอื้อต่อการพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” โดยสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”

ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง คณบดีคณะเกษตรและเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า“การจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง เป็นมหกรรมการบริการวิชาการแก่สังคม และการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่ได้ดำเนินการติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานซึ่งคณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันดำเนินงาน เพื่อเป็นการกระจายโอกาสในการบริการวิชาการ การบริการวิชาชีพ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง โดยจัดกิจกรรม บริการวิชาการและวิชาชีพ ในรูปแบบการจัดนิทรรศการภายใต้แนวคิด “เกษตร DIY ง่าย ๆ พาลงมือทำ” มีการสาธิต DIY จากสาขาวิชาต่าง ๆ การเสวนาวิชาการทางด้านการเกษตร เช่น เสวนาเรื่อง อาหารพืช อาหารสัตว์ DIY, วิกฤตปุ๋ยเคมี และแนวทางการใช้ปุ๋ยเคมีอินทรีย์, เกษตรนวัตกรรมเชิงพื้นที่ และ การเสวนาเรื่องอนาคต กัญชง กัญชา การประกวดแข่งขันทางด้านการเกษตร ได้แก่ การตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์เกษตร ทักษะการฟาดแส้ การจัดตู้ปลาสวยงาม การผลิตลูกชิ้นไก่ และการแข่งขันตกปลา การประกวดและโชว์กระบือแสนรู้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง คณะเกษตรและเทคโนโลยี สำหนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครพนม และกิจการร่วมค้า เอสเคเอสซี (ส.เขมราช) การแสดงดนตรีและนันทนาการด้านศิลปวัฒนธรรม โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม และการจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป การจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 24 ในปีนี้ จึงมีความหลากหลายทั้งด้านความรู้ วิชาการ วิชาชีพ ตลอดจนความบันเทิงต่าง ๆ จึงขอเชิญชวนประชาชน และท่านผู้มีเกียรติทุกท่านได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้”

ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม

HOT LINK