รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • นักวิจัย ม.นครพนม ส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ 3 สายเลือด “ศรีโคตรบูรณ์” สายพันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง พบลงทะเบียนจองคิวยาวถึงกลางปี

นักวิจัย ม.นครพนม ส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ 3 สายเลือด “ศรีโคตรบูรณ์” สายพันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง พบลงทะเบียนจองคิวยาวถึงกลางปี

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2025-02-28 12:05:58 310

นักวิจัย ม.นครพนม ส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ 3 สายเลือด “ศรีโคตรบูรณ์” สายพันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง พบลงทะเบียนจองคิวยาวถึงกลางปี

สาขาวิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรและเทคโนโลยี อบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมืองและไก่พื้นเมืองเชิงธุรกิจสำหรับเกษตรกรรายย่อย เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้สนใจผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมืองทั้งในระดับครัวเรือน และระบบเชิงพาณิชย์ครบวงจร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสาวคนธ์ เหมวงษ์ คณบดีคณะเกษตรและเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน ณ ห้องประชุมศูนย์วิทยบริการ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม (เขตพื้นที่ศรีโคตรบูรณ์) เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 

ดร.มัทนียา สารกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาสัตวศาสตร์ กล่าวว่า การผลิตไก่พื้นเมืองปัจจุบันมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากข้อจำกัดของไก่พื้นเมืองที่มีการเจริญเติบโตของขนาดร่างกายช้า และให้ผลผลิตไข่น้อย ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงมอบโจทย์วิจัยและเปิดโอกาสสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาไก่สายแม่พันธุ์ เพื่อผลิตลูกไก่ลูกผสมพื้นเมืองหรือลูกไก่สามสายเลือด ทดแทนไก่แม่พันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันมีเพียงบริษัทเอกชนรายใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สามารถนำเข้าแม่พันธุ์จากต่างประเทศเพื่อผลิตและจำหน่ายลูกไก่สามสายเลือด ซึ่งเกษตรกรตัวจริงไม่มีโอกาสได้เข้าถึงแม่พันธุ์ไก่ดี ๆ ที่ให้ไข่ดกฟองใหญ่ และให้ลูกไก่ที่เลี้ยงแล้วโตเร็ว ใช้อาหารน้อย และมีอายุการเลี้ยงสั้น

ทีมนักวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาแม่พันธุ์ไก่สัญชาติไทย ที่เกิดและโตที่เมืองไทย ให้ไข่ดกฟองใหญ่ และให้ลูกที่โตเร็ว เทียบเท่าหรือดีกว่าแม่พันธุ์ไก่ที่นำเข้าและแข็งแรงกว่า อีกทั้งยังสามารถทนทานต่อสภาพอากาศร้อนชื้น ทนทานต่อโรคและแมลงได้ดีกว่า สามารถเลี้ยงในโรงเรือนแบบเปิดได้ดี และให้ผลผลิตที่ดีต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไก่แม่พันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งการวิจัยนี้สามารถกระจายพันธุกรรมที่ดีที่เป็นผลผลิตไปสู่พี่น้องเกษตรกรให้สามารถผลิตลูกไก่ลูกผสมพื้นเมืองที่ต้นทุนต่ำ โดยไม่ถูกผูกขาดจากบริษัทกลุ่มทุนรายใหญ่ สร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางอาหารได้ 

ดร.มัทนียา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการวิจัย เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนครพนมสามารถผลิตไก่แม่พันธุ์เป็น รุ่นที่ 3 ที่ผ่านการคัดเลือกและจับคู่ผสมพันธุ์ มีลักษณะเด่นทั้งการเจริญเติบโตที่ดี ใช้ต้นทุนค่าอาหารต่ำ ให้ไข่ดกฟองใหญ่ และให้ลูกไก่ 3 สายเลือดที่โตเร็ว ใช้ต้นทุนค่าอาหารน้อย มีอายุการเลี้ยงที่สั้น โดยสายพันธุ์นี้ทีมนักวิจัยได้กำหนดชื่อเป็น “ไก่ศรีโคตรบูรณ์” เนื่องจากเป็นสถานที่ในการเพาะเลี้ยงและทดสอบงานวิจัยของจังหวัดนครพนม ปัจจุบันพบว่ามีเกษตรกรผู้ที่สนใจติดต่อขอรับลูกไก่ไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก บางรายต้องลงทะเบียนรอคิวยาวถึงกลางปี

นอกจากนี้ อาจารย์พิชิต รอดชุม หัวหน้าสาขาวิชาสัตวศาสตร์ ยังได้มอบพันธุ์ไก่ให้แก่เกษตรรายย่อยนำไปเลี้ยง จำนวน 8 ราย รวมกว่า 100 ตัว เพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้สนใจผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมืองทั้งในระดับครัวเรือนและระบบเชิงพาณิชย์ครบวงจร ที่ประกอบด้วย การผลิตพ่อ-แม่พันธุ์ การผลิตลูกไก่เพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงขุนส่งตลาด และการชำแหละเป็นไก่สดหรือไก่ชำแหละแช่แข็งจำหน่าย ส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ชุมชน

ภาพ/ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น

อัลบั้มภาพข่าว : https://www.facebook.com/share/p/1BnDzkUoMr/

#มหาวิทยาลัยนครพนม #NAKHONPHANOMUNIVERSITY #NPU #มหาวิทยาลัยนครพนมเป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน #เกษตรลุ่มน้ำโขง #เกษตรลุ่มน้ำโขงครั้งที่26 #วิจัย #ไก่ศรีโคตรบูรณ์ #ไก่ลูกผสมพื้นเมือง #ไก่สามสายเลือด

HOT LINK