รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ม.นครพนม เตรียมนำพืชสมุนไพรเฉพาะถิ่น “โสมภูลังกา” วิจัยเพาะขยายพันธุ์ รองรับหลักสูตรแพทย์แผนไทย และการตั้งโรงพยาบาล

ม.นครพนม เตรียมนำพืชสมุนไพรเฉพาะถิ่น “โสมภูลังกา” วิจัยเพาะขยายพันธุ์ รองรับหลักสูตรแพทย์แผนไทย และการตั้งโรงพยาบาล

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2025-03-18 09:16:04 231

ม.นครพนม เตรียมนำพืชสมุนไพรเฉพาะถิ่น “โสมภูลังกา” วิจัยเพาะขยายพันธุ์ รองรับหลักสูตรแพทย์แผนไทย และการตั้งโรงพยาบาล

วันที่ 16 มีนาคม 2568 เวลา 09.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประกันคุณภาพการศึกษา พร้อมด้วยคณาจารย์ และคณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม สำรวจสมุนไพรพื้นถิ่นเฉพาะเพื่อการอนุรักษ์และขยายพันธุ์พืชสมุนไพร รองรับการเปิดหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต 

การลงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนครพนม ได้รับความเมตตาจากพระครูวิจิตรวินัยสาร เจ้าคณะอำเภอบ้านแพง เจ้าอาวาสวัดป่าโนนแพง, ประธานเครือข่ายหมอสมุนไพร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ 

นายบรรจง กุณรักษ์ ประธานเครือข่ายหมอสมุนไพร อ.บ้านแพง จ.นครพนม เปิดเผยว่า บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกามีพืชสมุนไพรเป็นจำนวนมาก จากการเก็บข้อมูลของหมอยาพื้นบ้าน พบว่า ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร มีตัวยาสมุนไพรไม่น้อยกว่า 25 ตัวยา ชาวบ้านมักจะนำสมุนไพรมาใช้ในการบำรุง ดูแล และการรักษา ซึ่งถือเป็นทางเลือกอีกทางที่ควบคู่กับการดูแลรักษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน

“มีสมุนไพรเยอะมากในพื้นที่ ซึ่งแต่ละหมอยาก็มีวิธีการใช้ที่ต่างกัน มีการเก็บข้อมูลของหมอยา พบว่า ในพื้นที่ 1 ตารางเมตร บนอุทยานแห่งชาติภูลังกา จะมีตัวยาไม่น้อยกว่า 25 ตัวยา แต่ก่อนชาวบ้านก็อาศัยพืชสมุนไพร เพราะในสถานพยาบาลของรัฐยังมีการใช้ที่น้อยอยู่ และปัจจุบันการรักษาคงลงไปด้านวิทยาศาสตร์มากแล้ว พืชสมุนไพรคือทางเลือก (หมอทางเลือก) ในการรักษาของแพทย์ปัจจุบัน”

นายบรรจง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า บนอุทยานแห่งชาติภูลังกา มีสมุนไพรที่เด่น ๆ ในพื้นที่ คือ “โสมภูลังกา” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการแก้เมื่อย บำรุงกำลัง รักษาข้อกระดูก ส่วนใหญ่จะนำมาต้มน้ำดื่ม หรือทำการบดผสมน้ำผึ้งปรุงเป็นยา สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบและลำต้น พืชชนิดนี้มักจะพบเห็นบนยอดหน้าผาสูงเท่านั้น ซึ่งยากต่อการพบเห็นโดยทั่วไป ด้วยสรรพคุณที่หลากหลายของพืชสมุนไพรชนิดนี้ เมื่อชาวบ้านพบเห็นจึงตัดลงมาทั้งหมด ทำให้ปัจจุบัน “โสมภูลังกา” เริ่มหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูลังกา และวัดในพื้นที่ใกล้เคียง อนุรักษ์ด้วยการเพาะปลูกเพื่อเตรียมขยายพันธุ์

นอกจาก “โสมภูลังกา” ที่หายาก ยังมีพืชสมุนไพรเด่น ๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ สามสิบสองประดง (สิรินธรวัลลี), กำลังหนุมาน, กำลังเสือโคร่ง, กำลังช้างสาร-กำลังช้างเผือก และกวาวเครือขาว-กวาวเครือแดง ที่ปัจจุบันเริ่มใกล้จะสูญพันธุ์เช่นกัน จากการแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่สวนของชาวบ้าน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัลย์ เอี่ยมกุศลกิจ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประกันคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า การลงสำรวจพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อทำการคัดเลือกสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นถิ่น เนื่องจากมหาวิทยาลัยนครพนม เตรียมที่จะทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำร่างหลักสูตร การสำรวจพื้นที่ศึกษาข้อมูลของสมุนไพรเพื่อที่จะใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัย รวมถึงการแปรรูปสมุนไพรเฉพาะของพื้นถิ่น และการสนับสนุนให้เกิดรายได้ของชุมชน

“เราจะนำสมุนไพรเหล่านี้ไปอนุรักษ์พันธุ์พืชให้สามารถที่จะขยายพันธุ์ได้อย่างถูกต้อง และนำมาสกัดสารสำคัญเพื่อนำไปรักษาสุขภาพประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค หรือการรักษาในบางตัวตามสารสกัดที่ได้ออกมา และการทำผลิตภัณฑ์เพื่อการรักษา ให้ประชาชนสามารถใช้สมุนไพรที่บ้านของตนเองในการรักษา ลดการใช้ยาที่นำเข้า และลดผลข้างเคียงของยาด้วย ซึ่งบางส่วนเราสามารถเก็บเมล็ดไปทำการวิจัยและขยายพันธุ์ต่อไปได้ และเมื่อเราได้สูตรการเพาะพันธุ์ จะถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีการขยายพันธุ์ปลูก เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่และชุมชนอีกมิติหนึ่ง”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เสน่ห์ของการทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต คือ อยากให้นักศึกษาสามารถแปรรูปสมุนไพรเฉพาะในท้องถิ่น เป็นสูตรในการรักษา บำบัดสุขภาพให้กับประชาชนอีสานตอนบนหรือพื้นที่ใกล้เคียงในอนาคต

ขณะเดียวกันวานนี้ (17 มีนาคม 68) ที่ห้องแพงพนม ชั้น 4 สำนักงานอธิการบดี มีการประชุมของคณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต โดยที่ประชุมได้นำเสนอผลการลงสำรวจพื้นที่สมุนไพรบนอุทยานแห่งชาติภูลังกา พร้อมพูดคุยถึงการทำร่างหลักสูตร และหารือวางแผนพื้นที่บริเวณภายในมหาวิทยาลัยตั้งสวนสมุนไพร เพื่อเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต่อไปด้วย

ภาพ/ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น

อัลบั้มภาพข่าว : https://www.facebook.com/share/p/1F4U9TyydS/

#npunews #NPUThailand #CCIA #npu #มหาวิทยาลัยนครพนม #NakhonPhanomUniversity #ข่าวมหาวิทยาลัยนครพนม #นครพนม #สมุนไพร #สำรวจสมุนไพร #ภูลังกา #แพทย์แผนไทย #โสมภูลังกา

HOT LINK