งดงามสมพระเกียรติ แท่นพระราชทานปริญญาบัตร ม.นครพนม ศิลปะเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และศรัทธาในดินแดนลุ่มน้ำโขง
นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2025-03-24 23:44:15 251
นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยล้วนมีความหวังว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตหลังจากที่ได้เข้ามาศึกษาก็อยากจะสำเร็จการศึกษาให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ทำงานเดินตามทางฝันสร้างอนาคตและครอบครัว แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นความหวังอันทรงเกียรติอีกอย่างหนึ่ง คือ การได้เข้าเฝ้าและรับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเป็นงานพระราชพิธีที่หลายคนเฝ้ารอ และงานพระราชพิธีดังกล่าวจะถูกปรับปรุงตกแต่งพื้นที่อาคารให้สวยงาม เพื่อรอการกลับมาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยที่กำลังเป็นศิษย์เก่าในอนาคต ซึ่งเป็นการต้อนรับการกลับเยือนของบัณฑิต การตกแต่งสถานที่ให้เกิดความสวยงาม ยังเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วย และเพื่อให้สมพระเกียรติอย่างสูงสุดขององค์ประธานที่เสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตร
แน่นอนว่าทั้งพื้นที่อาคารต่าง ๆ จะถูกตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงาม แม้กระทั่งพระแท่นที่ประทับพระราชทานปริญญาบัตรก็ถูกประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามด้วยดอกไม้สดเพียงชั่วข้ามคืน จากการวางแผนของทีมงานช่างตกแต่งเวที (ออแกไนซ์)
“หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ปีนี้ถูกเนรมิตตกแต่งอย่างสวยงาม เพื่อใช้เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยนครพนม ประจำปีการศึกษา 2566 ในวันที่ 24 มีนาคม 2568 และถือเป็นปีแรกของการจัดงานใหญ่ที่หอประชุมแห่งนี้ เราได้พูดคุยกับ “นิรมิต บุรีรัมย์” ทีมจัดตกแต่งดอกไม้ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรถึงแนวคิดการตกแต่งเวที ซึ่งได้ข้อมูลว่า ปีนี้ มาในคอนเซ็ปต์ “นครพนม แสง ศิลป์ ศรัทธา” ได้รับแรงบันดาลใจจากจังหวัดนครพนม ดินแดนแห่งศิลปะ วัฒนธรรม และความศรัทธา ถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่
1. ไหลเรือไฟ : ไม่ใช่แค่ประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา แต่ปัจจุบันได้กลายเป็น Soft Power สำคัญของจังหวัดนครพนม ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างภาพลักษณ์ให้จังหวัดเป็นที่รู้จักในระดับประเทศและนานาชาติ เสริมสร้างอัตลักษณ์ของเมือง และเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่น
2. ผ้าคราม : ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ้าครามของนครพนมมีสีสันและลวดลายที่เกิดจากการย้อมธรรมชาติ สื่อถึงความงดงามของวัฒนธรรมพื้นบ้านและวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง
3. พญานาค : สัญลักษณ์แห่งความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พญานาคในงานนี้สะท้อนถึงความศรัทธาของชาวนครพนมที่มีต่อองค์พญาศรีสัตตนาคราช ผู้ปกปักรักษาแม่น้ำโขงและชาวเมือง
4. หน้าบันแบบศรีโครตบูรณ์ : ศิลปะสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรศรีโครตบูรณ์ สื่อถึงประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของนครพนมที่มีรากเหง้าทางศิลปะร่วมกับวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง
โดยผลงานทั้งหมดนี้จึงเป็นการรวบรวมอัตลักษณ์ของนครพนม ถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบทางศิลปะที่เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และความศรัทธาอันยั่งยืนของผู้คนในดินแดนแห่งนี้ และเป็นปีแห่งความภาคภูมิใจที่หอประชุมอนุภาคลุ่มน้ำโขง เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งใหม่ของพิธีอันทรงเกียรติ
เรื่องราว : พัฒนะ พิมพ์แน่น
ขอบคุณแนวคิด : “นิรมิต บุรีรัมย์”