รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ม.นครพนม เปิดบ้านเยี่ยมชมหอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ใหญ่สุดภาคอีสานตอนบน

ม.นครพนม เปิดบ้านเยี่ยมชมหอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ใหญ่สุดภาคอีสานตอนบน

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2024-06-27 17:14:35 271

ม.นครพนม เปิดบ้านเยี่ยมชมหอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ใหญ่สุดภาคอีสานตอนบน

วันที่ 25 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 น. มหาวิทยาลัยนครพนม จัดกิจกรรมเปิดบ้านต้อนรับบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชมอาคารหอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมคณะผู้บริหาร และบุคลากรมหาวิทยาลัย ร่วมต้อนรับและพาเยี่ยมชม ซึ่งได้รับการตอบรับจากบุคคลภายนอกที่มาจากหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่าง ๆ ณ บริเวณชั้น 3 หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม (เขตพื้นที่มรุกขนคร)


“หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านเนินสะอาด ต.นาราชควาย อ.เมือง จ.นครพนม แล้วเสร็จจากการตกแต่งภายในและมีความพร้อมใช้งานเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 โดยวันนี้เป็นวันแรกของการเปิดใช้งานหอประชุมที่พร้อมเปิดให้เยี่ยมชมตัวอาคาร และวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ถือเป็นงานใหญ่ครั้งแรกในการปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่มหาวิทยาลัยนครพนม ประจำปีการศึกษา 2567 ซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 2,000 คน


หอประชุมแห่งนี้มีพื้นที่การก่อสร้างประมาณ 30,000 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 20 ไร่ ใช้งบก่อสร้างมากถึง 400 ล้านบาท ถือเป็นหอประชุมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) และยังสามารถบรรจุคนได้มากถึง 3,000 คน 


สำหรับพื้นที่การใช้ประโยชน์ของอาคารมีทั้งหมด 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 เป็นลานจอดรถ สามารถรองรับได้มากถึง 100 คัน และยังมีพื้นที่รอบนอกอาคารสามารถจอดเพิ่มได้อีก 1,000 คัน มีประตูทางเข้า-ออก ที่สะดวก มีกล้องวงจรปิดทุกจุดเพื่อความปลอดภัยและเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้มาใช้บริการ 

ชั้นที่ 2 จะใช้เป็นจุดแสดงสินค้าภูมิภาคของไทย ลาว เวียดนาม จีน พม่า และกัมพูชา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความกว้าง และสะดวกต่อการจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ 

ชั้นที่ 3 สามารถใช้จัดแสดงคอนเสิร์ต การประชุมนานาชาติ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่ โดยแต่ละชั้นมีระบบการขนส่งสินค้าขึ้น-ลง เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้งานภายในอาคาร 


ส่วนลวดลายการตกแต่งและความอ่อนช้อยของอาคารแห่งนี้ เป็นการนำแนวคิดของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดนครพนม มาออกแบบประยุกต์เพื่อให้กลมกลืนกับบริบทพื้นที่

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ เปิดเผยว่า หอประชุมแห่งนี้แม้จะเป็นการก่อสร้างในนามมหาวิทยาลัย แต่การใช้งานทุกคน ทุกหน่วยงาน สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะภารกิจของมหาวิทยาลัยคือสนับสนุนสังคมอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัดหรือเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ ยังรองรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การค้า การลงทุนในภาคธุรกิจ หรือแม้กระทั่งใช้เป็นห้องประชุมที่รับการรับรองไมซ์ (MICE) ซึ่งผลประโยชน์จะเกิดขึ้นมหาศาลกับเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนนครพนม ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการพิจารณาใช้ชื่อใหม่ของหอประชุม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้นักศึกษา บุคลากร ศิษย์เก่า ตลอดจนประชาชนทั่วไป ร่วมเสนอชื่อหอประชุมผ่าน : https://shorturl.at/01htb หากได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ จะมีการประกาศใช้ชื่อใหม่อย่างเป็นทางการอีกครั้ง 


ส่วนการปรับแต่งภูมิทัศน์โดยรอบของอาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยได้ประเมินงบใช้จ่ายเพิ่มเติม เบื้องต้นเป็นจำนวนเงิน 40 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณแผ่นดิน ในปี 2568 ซึ่งหากได้งบในส่วนนี้เข้ามาเพิ่ม หอประชุมจะมีความสมบูรณ์แบบและสวยงาม สามารถรองรับการจัดประชุมระดับนานาชาติ จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในอนาคต

ภาพ : ไชยา สอนไชยา/พัฒนะ พิมพ์แน่น

ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น

อัลบั้มภาพข่าว : https://www.facebook.com/media/set/?vanity=NPUThailand&set=a.521969620399845

HOT LINK