รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • มนพ. ร่วมกับภาคีเครือข่ายเด็ก-เยาวชนนครพนม ขับเคลื่อนกลไกลดผลกระทบการพนันออนไลน์

มนพ. ร่วมกับภาคีเครือข่ายเด็ก-เยาวชนนครพนม ขับเคลื่อนกลไกลดผลกระทบการพนันออนไลน์

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2019-03-10 13:13:20 578

มนพ. ร่วมกับภาคีเครือข่ายเด็ก-เยาวชนนครพนม ขับเคลื่อนกลไกลดผลกระทบการพนันออนไลน์

วันที่ 9 มีนาคม 2562 เวลา 18.00 น. ณ ลานกันเกรา หน้าตลาดอินโดจีน อ.เมือง จ.นครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมกับภาษีเครือข่ายและหน่วยงานในจังหวัดนครพนม จัดโครงการ “ขับเคลื่อนกลไกลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์ เพื่อการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม เปิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน” โดยมีนายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดงาน�

อาจารย์จุฑาลักษณ์ แสนโท อาจารย์ประจำสาขาวิชาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เปิดเผยว่า การจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาการพนันและผลกระทบจากปัญหาการพนันออนไลน์ ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชน ร่วมกันขับเคลื่อนกลไกการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในการลดผลกระทบจากปัญหาการพนันออนไลน์ในระดับจังหวัด โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นศูนย์คุ้มครองเด็ก 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลรามราช ตำบลนาถ่อน และตำบลบ้านผึ้ง ,สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม ,นักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม และประชาชนจำนวน 200 กว่าคน ผ่านกิจกรรมการเขียนข้อความเพื่อคุ้มครองเด็กจากปัญหาการพนันออนไลน์ลงบนผืนผ้า ,การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับโทษของการพนัน ,การแสดงจากชมรมทูบีนัมเบอร์วัน มหาวิทยาลัยนครพนม ,การลอย “เรือไฟ ไม่พนัน” ลงสู่แม่น้ำโขง ,การมอบสื่อเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์แก่ศูนย์คุ้มครองเด็กในตำบลนำร่อง 3 ตำบลที่กล่าวข้างต้น ,การประกาศเจตนารมณ์คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดนครพนม ว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากปัญหาการพนันออนไลน์ และการแห่ผ้าผะเหวดคุ้มครองเด็กจากพนันออนไลน์ไปยังถนนคนเดิน�

นอกจากนี้บนเวทียังมีการเสวนา “การพนันเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ : การคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากปัญหาการพนันออนไลน์” จากนายพงศ์ธร จันทรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ,นางอภิญญา ชมพูมาศ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนมและเลขานุการคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดนครพนม , แพทย์หญิงปวีณา แพพานิช จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ และนายรัฐธรรมนูญ อื้อสกุล ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม มี ดร.กัญณฐา พงศ์พิริยะวนิช เป็นผู้ดำเนินรายการ

ด้าน แพทย์หญิงปวีณา แพพานิช จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเข้าถึงการพนันของเด็กรุ่นใหม่ง่ายขึ้น ทั้งการพนันแบบอ๊อฟไลน์ (กลุ่มปิด) และแบบออนไลน์ เด็กที่ติดการพนันก่อนอายุ 10 ขวบ สมองส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ จะถูกกระตุ้นตลอดเวลา ตรงกันข้ามกับสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการตัดสินใจ ที่โดยธรรมชาติจะพัฒนาช้ากว่าสมองส่วนกลาง ก็ยิ่งไม่สามารถระงับ ยับยั้งอารมณ์จากการพนันได้ การพัฒนาการทางสมองของเด็กที่เติบโตอยู่ตลอดเวลา ครอบครัวจึงมีส่วนสำคัญในการประคับประคองให้เด็กถูกฝึกฝน ซึมซับพฤติกรรมที่ดีตั้งแต่อายุน้อย ๆ การทำงานของสมองจะไม่พบกับสิ่งกระตุ้นเชิงลบ เมื่อสมองส่วนหน้าสามารถควบคุมการทำงานด้านอารมณ์ของสมองส่วนกลางได้ การรู้จักแยกแยะ ผิดชอบ ชั่ว ดี จะตามมา�

นายรัฐธรรมนูญ อื้อสกุล ประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม กล่าวว่า การป้องกันปัญหาการติดการพนันออนไลน์ เริ่มจากสถาบันครอบครัว ผู้ปกครองควรหากิจกรรมสร้างสรรค์ให้กับเด็กได้ทำ เพื่อไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับการพนัน ซึ่งทางสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม มีกิจกรรมมากมายที่สร้างสรรค์ เช่น การเล่นดนตรี การสร้างคลิปวีดีโอแบบสร้างสรรค์ กิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น โดยทุกกิจกรรมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับทางสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนมของเราได้ เพื่อเฝ้าระวังและป้องการตั้งแต่เนิ่น ๆ นายรัฐธรรมนูญ กล่าว.�

สอดคล้องกับแพทย์หญิงปวีณา แพพานิช ที่กล่าวข้างต้นว่า ผู้ปกครองควรปล่อยให้เป็นไปตามพัฒนาการของเด็กอย่างเหมาะสม คือไม่กดดัน หรือตั้งความหวังกับเด็กมากเกินไปในวัยเรียน ปล่อยให้เด็กได้มีอิสระทางความคิดมากกว่าการทำตามคำสั่ง เพราะเมื่อผู้ปกครองคาดหวังกับเด็กมากไปแล้วเด็กทำไม่ได้เท่าที่ควร ความเครียดและความกดดันจะตกอยู่กับเด็ก ซึ่งจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กหันไปเล่นการพนัน และอบายมุขต่าง ๆ ผู้ปกครองควรเปิดใจรับฟังความคิดของเด็กให้มากขึ้น ให้เด็กได้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง และคอยแนะนำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องห่าง ๆ ก็จะเป็นการดึงความสนใจของเด็กไม่เข้าไปยุ่งการพนันในอนาคต


ภาพ/ข่าว : งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนครพนม�

อัลบั้มภาพทั้งหมด :�https://goo2url.com/w2Pve

HOT LINK