รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ม.นครพนม จัดแถลงข่าวงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 25 ภายใต้แนวคิด "BCG Model สู่เกษตรมูลค่าสูง"

ม.นครพนม จัดแถลงข่าวงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 25 ภายใต้แนวคิด "BCG Model สู่เกษตรมูลค่าสูง"

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2024-01-12 21:15:06 8,676

ม.นครพนม จัดแถลงข่าวงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 25 ภายใต้แนวคิด

วันที่ 12 มกราคม 2567 คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม จัดแถลงข่าวงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 25 ภายใต้แนวคิด "BCG Model สู่เกษตรมูลค่าสูง" ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2567 โดยมี นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธาน พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.กรไชย พลภัสรชกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม นางสาวสายสุณี ปั้นพงษ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ถนอม ทาทอง รองอธิการบดี รักษาราชการแทนคณบดีคณะเกษตรและเทคโนโลยี ร่วมแถลงข่าว ณ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม (เขตพื้นที่ศรีโคตรบูรณ์) ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

นางรณิดา เหลืองฐิติสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า จังหวัดนครพนม มีโครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพในการผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง และสินค้าเกษตรแปรรูป นอกจากนี้จังหวัดนครพนมยังมีสินค้า GI คือ สับปะรดท่าอุเทน ลิ้นจี่ นพ.1 และพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าวหอมมะลินาปี ข้าวเหนียวนาปี มันสำปะหลัง และยางพารา ซึ่งทางจังหวัดมีนโยบายยกระดับการเกษตรตามความต้องการของพื้นที่ และความร่วมมือของชุมชน ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองจากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่หรือท้องถิ่น การจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 25 ภายใต้หัวข้อ “BCG Model สู่เกษตรมูลค่าสูง" เป็นแนวทางการพัฒนาอาชีพโดยยึดตามหลักคิดของ BCG Model คือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่พัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และ “เกษตรมูลค่าสูง” ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าทีสูงขึ้น และยังส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีนักวิจัย นักวิชาการ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกร ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กรไชย พลภัสรชกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า การจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ได้ดำเนินการจัดงานติดต่อกันมาเป็นปีที่ 25 ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากจังหวัดนครพนม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการสนับสนุนร่วมจัดกิจกรรม มหาวิทยาลัยนครพนมมีนักวิชาการ นักวิจัย ที่ได้สร้างสรรค์งานวิจัย องค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำไปต่อยอดให้แก่ประชาชน เกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาอาชีพได้ เป็นการบูรณาการศาสตร์พระราชา ร่วมกับผลงานวิจัย นวัตกรรมใหม่ ๆ เทคโนโลยีต่าง ๆ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมเกษตรที่ช่วยให้เกษตรกร ประชาชน นำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางเกษตรให้ดีขึ้น 

นางสาวสายสุณี ปั้นพงษ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) ที่มุ่งในการเสริมจุดแข็งและแก้ไขจุดอ่อนให้เอื้อต่อการพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ "เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน" และยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดนครพนม กับแผน 3 ระดับ ที่มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพได้มาตรฐานปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน 

และในช่วงท้ายของการแถลงข่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถนอม ทาทอง รองอธิการบดี รักษาราชการแทน คณบดีคณะเกษตรและเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดงานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 25 ประจำปี 2567 นี้ เป็นการกระจายโอกาสในการบริการวิชาการ การบริการวิชาชีพ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นลุ่มน้ำโขง โดยกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ภายใต้แนวคิด “BCG Model สู่เกษตรมูลค่าสูง” ซึ่งปีนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การจัดแสดงนิทรรศการ นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ จากสาขาวิชาต่าง ๆ ภายในคณะเกษตรและเทคโนโลยี หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน การประชุมวิชาการเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “นวัตกรรมการเกษตรเพื่อความมั่นคงทางอาหารสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งในการประชุมวิชาการดังกล่าว มีการเสวนาทางด้านการเกษตร ได้แก่ ธนาคารต้นไม้เพื่อการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต การขับเคลื่อนผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคต และการเกษตร เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ ตลอดจนการฝึกอบรมด้านต่าง ๆ ทางการเกษตร อาทิ การอบรมการเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง และการอบรมสุนทรียภาพว่าด้วยศาสตร์เบียร์ การประกวดและการแข่งขันทักษะของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป การประกวดและโชว์กระบือสวยงาม การประกวดส้มตำลีลา การแข่งขันเสียบยอดชวนชม ติดตากุหลาบ เสียบกิ่งข้างทุเรียน การแข่งขันทำเครื่องดื่มฟิวชั่นจากมันแกวและสับปะรด การประกวดสวนผักในกระถางสำหรับคนชอบส้มตำ การแข่งขันการจัดตู้ปลาสวยงาม การประกวดการออกแบบและจัดสวนถาดสำหรับสำนักงานรักษ์โลก การแข่งขันทักษะการเขียนโปรแกรม Arduino เบื้องต้นสำหรับการควบคุมระบบไฟฟ้าในฟาร์ม การแข่งขันทักษะการฟาดแส้ การแข่งขันทักษะไก่อบฟาง และการแข่งขันตกปลา  

นอกจากนี้ ยังมีการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสินค้าจากบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม ตลาดชุมชน เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้าน ชุมชนใกล้เคียง ออกร้านจำหน่ายสินค้า ร้านค้าจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร สินค้าพื้นเมือง พันธุ์ไม้นานาชนิด เครื่องจักรกลทางการเกษตร การประมูลโคเนื้อแบรงกัส อีกทั้งยังมีงานคืนสู่เหย้าศิษย์เก่าเกษตรนครพนม และการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่จะมาสร้างความสนุกสนานภายในงาน 

งานเกษตรลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 25 ภายใต้แนวคิด "BCG Model สู่เกษตรมูลค่าสูง" มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2567 ณ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม (เขตพื้นที่ศรีโคตรบูรณ์) ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

ภาพ/ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น

HOT LINK