รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ม.นครพนม เข้าร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง 3 ประเทศ 9 จังหวัด (ไทย ลาว เวียดนาม) ที่ใช้เส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 12 ครั้งที่ 23

ม.นครพนม เข้าร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง 3 ประเทศ 9 จังหวัด (ไทย ลาว เวียดนาม) ที่ใช้เส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 12 ครั้งที่ 23

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2024-02-28 22:08:45 2,793

ม.นครพนม เข้าร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง 3 ประเทศ 9 จังหวัด (ไทย ลาว เวียดนาม) ที่ใช้เส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 12 ครั้งที่ 23

ระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2567 ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง 3 ประเทศ 9 จังหวัด (ไทย ลาว เวียดนาม) ที่ใช้เส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 12 ครั้งที่ 23 ณ ห้องศรีสกล A โรงแรมเดอะ มาเจสติค สกลนคร อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร

การประชุมครั้งนี้ มหาวิทยาลัยนครพนม ได้รับเกียรติจากจังหวัดนครพนม โดยมีนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าร่วมประชุมในฐานะเป็นผู้แทนหน่วยงานด้านการศึกษา ซึ่งก่อนเริ่มประชุม ที่ประชุมได้มีการสรุปผลการดำเนินงานกรอบความร่วมมือในภาพรวมของ 3 ประเทศ 9 จังหวัด ที่ใช้เส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 12 จากการลงนามความร่วมมือครั้งก่อน เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 


โดยที่ประชุมครั้งนี้ ผู้แทนแต่ละจังหวัดมีมติเห็นชอบร่วมกัน และได้เสนอข้อมูลหลายประเด็นในความร่วมมือ ได้แก่

1. ด้านการศึกษา ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในแต่ละจังหวัด แขวง ด้วยความร่วมมือกันเพื่อสร้างบุคลากรบนพื้นฐานเดียวกัน ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นวันต่อวัน โดยการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความรู้ในด้านภาษา วิชาและเทคนิคพิเศษ รวมถึงการเพิ่มความเป็นมืออาชีพด้วยการเยี่ยมชมกิจกรรมการประชุม การแลกเปลี่ยนและร่วมมือในกิจกรรมพิเศษ การได้รับรู้วัฒนธรรมและกีฬาในทุก ๆ วัน โดยเฉพาะวันสำคัญหรือเทศกาลของแต่ละประเทศ และแต่ละจังหวัด แขวง เช่น วันครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-ลาว วันครบรอบ 60 ปี สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ลาว-เวียดนาม และวันครบรอบ 45 ปี ลงนามในสนธิสัญญาความสัมพันธ์ และความร่วมมือ ลาว-เวียดนาม

2. ด้านสาธารณสุข ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดความร่วมมือที่เข้มแข็งในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 โดยทั้ง 3 ประเทศ ได้ร่วมมือกันแบ่งปันข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ความช่วยเหลือด้านอาหาร การจัดหาแลสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และด้านงบประมาณ และที่สำคัญได้ร่วมกันเฝ้าระวังและคัดกรองผู้คนที่ เข้า-ออก ประเทศ โดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ

3. ด้านการค้าและการท่องเที่ยว ยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกวันไม่ว่าจะเป็นจำนวนของนักท่องเที่ยว การนำเข้า-ส่งออก ยานพาหนะและสินค้า ที่ผ่านจุดผ่านแดน การถ่ายทอดทางเทคโนโลยีได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในกิจกรรมการลงทุน ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดแข็งและการเชื่อมโยงของแต่ละจังหวัด แขวง ในทั้ง 3 ประเทศ โดยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของทั้ง 3 ประเทศ ได้เห็นชอบให้มีการเปิดเส้นทางใหม่เชื่อมโยงทั้ง 3 ประเทศ ไทย-ลาว-เวียดนาม เข้าด้วยกัน คือ เส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 


ส่วนแผนความร่วมมือในอนาคต 

1. ด้านการศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม กีฬา ท่องเที่ยว และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะยกระดับความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากร ครู และนักเรียน นักศึกษา ระหว่างแต่ละจังหวัด โดยมุ่งเน้นไปยังพื้นที่ที่ต้องการของแต่ละจังหวัด รวมถึงการพัฒนาความรู้ด้านภาษาไทย-ลาว-เวียดนาม การสนับสนุนการให้ทุนการศึกษา ค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก และอำนวยความสะดวกด้านอื่น ๆ ให้แก่นักเรียนในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดควรจัดหาอาสาสมัครด้านภาษาเพื่อสอนภาษาให้แก่นักเรียน และนักศึกษา

2. ด้านสาธารณสุข ทั้ง 3 ประเทศ 9 จังหวัด ยกระดับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่และการป้องกัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 โรคฝีดาษลิง และโรคอุบัติใหม่อื่น ๆ โดยการเพิ่มความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น ส่งเสริมการลงทุน อุปสงค์และอุปทานความต้องการด้านเทคโนโลยี ของทั้ง 3 ประเทศ 9 จังหวัด พัฒนาแรงงานให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และสามารถไปทำงานได้อย่างเสรีภายใต้ข้อตกลงกรอบของประชาคมอาเซียน และกฎหมายของแต่ละจังหวัด สนับสนุนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการโฆษณาเผยแพร่คุณค่าทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒธรรม สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของแต่ละจังหวัด ส่งเสริมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ศิลปะ กีฬา ในวันสำคัญต่าง ๆ ของทั้ง 3 ประเทศ 9 จังหวัด เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัด แขวง รวมถึงการพัฒนาระบบการคมนาคมสาธารณะใน 3 ประเทศ 9 จังหวัด ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการพัฒนาและส่งเสริมแนวความคิดการท่องเที่ยวแบบคาราวาน

3. ด้านการค้าและลงทุน ร่วมกันแนะนำ ประชาสัมพันธ์ ศักยภาพของจังหวัด แขวง โอกาสในการลงทุน สินค้า และสิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการหรือนักลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในกรอบความร่วมมือของกลุ่มจังหวัด ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจ ในการแลกเปลี่ยนและมองหาโอกาสในการลงทุน (การจัดนิทรรศการและขายสินค้า ODOP - OTOP) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด แขวง ส่งเสริมการค้าบริเวณชายแดน โดยลดขั้นตอนทางศุลกากร การตรวจหนังสือเดินทางหรือเอกสารอื่น ๆ เพื่อกระชับเวลาในการเดินทางเข้า-ออก ตลอดจนพัฒนากลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแต่ละจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการลักลอบของผิดกฎหมาย การทุจริตเชิงพาณิชย์ การลักลอบขนยาเสพติด ขณะที่แขวงบอลิคำไซได้เสนอคำขอต่อรัฐบาลลาวในการยกระดับให้จุดผ่อนปรนน้ำออนเป็นด่านพรมแดนถาวร เพื่อเพิ่มความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้า

4. ด้านการขนส่งและคมนาคม โดยอยากให้มีการเสนอต่อรัฐบาล ทั้ง 3 ประเทศ เปิดเส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพ-นครพนม-ท่าแขก-ห่าติ๋ญ และร่วมมือกันผลักดันเปิดเส้นทางขนส่งผู้โดยสาร จากจังหวัดกว่างบิ่ญ-คำม่วน-นครพนม-สกลนคร เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของทั้ง 3 ประเทศ เพื่อลงนามในบันทึกการประชุมในการนำเส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 12 ซึ่งอยู่ระหว่างสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บรรจุไว้ในพิธีสารฉบับที่ 1 เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS CETA) ผลักดันการดำเนินงานโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) เพื่อให้เป็นไปตามแผนการก่อสร้างจุดผ่านแดนนานาชาติ ซึ่งเชื่อมโยงกับถนนแห่งชาติ หมายเลข 13 ใต้ หรือ ถนน AH 11 ถึง เส้นทางหมายเลข 8 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านขนส่งของ ทั้ง 3 ประเทศ แลกเปลี่ยนร่วมมือขนส่งสินค้าโดยใช้เส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 12 ไปยังเขตอุตสาหกรรมหวุงอ่าง (จังหวัดห่าติ๋ญ) และเขตอุตสาหกรรมฮอนลา (จังหวัดกว่างบิ่ญ) และเมืองเกื่อลอ (จังหวัดเหงะอาน) และไปสู่ประเทศที่ 3 ส่งเสริมการก่อสร้างทางด่วนจากนครหลวงเวียงจันทน์-ฮานอย โดยผ่านทางด่านน้ำออน (แขวงบอลิคำไซ) ถึงด่าน แทง ถุ่ย (จังหวัดเหงะอาน) ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากทั้ง 2 รัฐบาล (ลาว-เวียดนาม) โดยมีจุดหมายเพื่อสร้างความสะดวกให้กับการค้า การท่องเที่ยว และการพัฒนาสังคม-เศรษฐกิจของ ทั้ง 2 ประเทศ พัฒนาการเชื่อมต่อการก่อสร้างถนน ระหว่างจุดผ่านแดนน้ำพาว (บอลิคำไซ) - เกิ่ว แจว (ห่าติ๋ญ) ในฝั่งของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนสาว โดยได้รับการอนุญาตจากทั้ง 2 ประเทศ (ลาว-เวียดนาม)

5. ด้านการเกษตร ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีในภาคการเกษตรระหว่าง 3 ประเทศ 9 จังหวัด ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเกษตร เช่น การส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยี การปศุสัตว์ เมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ การเฝ้าระวังโรคระบาดจากพืชและสัตว์ รวมถึงการป้องกันการค้าสัตว์ป่าสงวน และการลักลอบค้าสัตว์ผิดกฎหมาย กำหนดการประชุมผู้บริหารระดับสูง 3 ประเทศ 9 จังหวัด (ไทย-ลาว-เวียดนาม) ครั้งต่อไป (ครั้งที่ 24) ซึ่งจะมีการประชุมเตรียมความพร้อมของคณะอนุกรรมการร่างบทบันทึกข้อตกลงสำหรับการประชุมผู้บริหารระดับสูง 3 ประเทศ 9 จังหวัด ที่ แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ส่วนการประชุมผู้บริหารระดับสูง 3 ประเทศ 9 จังหวัด (ไทย-ลาว-เวียดนาม) ครั้งที่ 24 นั้น มีกำหนดจัดขึ้นที่จังหวัดกว่างบิ่ญ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2568 


จากนั้น ในที่ประชุมได้มีการลงนามในบันทึกการประชุมคณะผู้บริหารระดับสูง 3 ประเทศ 9 จังหวัด ที่ใช้เส้นทางหมายเลข 8 และหมายเลข 12 ครั้งที่ 23 โดยมีหัวหน้าคณะจังหวัด แขวง จาก 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม และจังหวัดสกลนคร ของไทย แขวงบอลิคำไซ แขวงคำม่วน ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จังหวัดเหงะอานห์ จังหวัดฮาติงห์ และจังหวัดกวางบิ่งห์ ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าร่วมประชุมและเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกการประชุม

ภาพ : สราวุธ ชิตบัณฑิตย์

ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น

HOT LINK