รอบรั้วกันเกรา

  • Home
  • รอบรั้วกันเกรา
  • ศูนย์ GMS ม.นครพนม ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และกงศุลใหญ่เวียตนาม หารือ แลกเปลี่ยน นโยบายคมนาคม การขนส่ง และความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่น

ศูนย์ GMS ม.นครพนม ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และกงศุลใหญ่เวียตนาม หารือ แลกเปลี่ยน นโยบายคมนาคม การขนส่ง และความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่น

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2024-03-10 21:19:05 3,475

ศูนย์ GMS ม.นครพนม ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และกงศุลใหญ่เวียตนาม หารือ แลกเปลี่ยน นโยบายคมนาคม การขนส่ง และความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่น

วันที่ 9 มีนาคม 2567 ผศ.ดร.โสรัจจ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม พร้อมด้วย ดร.สุริยา คำหว่าน และอาจารย์สุริยันต์ สุรเกียงไกร คณะกรรมการศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือ แลกเปลี่ยน และรับฟังข้อมูลนโยบายด้านการคมนาคม การขนส่ง และความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่น จากคำเชิญของสมาคมไทย-เวียตนาม จังหวัดนครพนม โดยมี นายจูดึ๊กหยุง กงศุลใหญ่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนาม และ ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (รชค.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสมาคมไทย-เวียตนาม จังหวัดนครพนม

โดยที่ประชุม ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายด้านคมนาคม โลจิสติคส์ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับด่านศุลากร ระหว่าง 3 ประเทศ (ไทย-ลาว-เวียตนาม) โดยใช้เส้นทางจากจังหวัดนครพนม ผ่านถนนสาย R8 และ R12 ซึ่งการหารือครั้งนี้ ทางเวียตนามได้ซักถามถึงนโยบายของรัฐบาลไทย เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การคมนาคมของไทยที่เชื่อมโยงไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนาม 

ด้าน ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ระบบขนส่งในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ มีการวางแผนการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อระหว่าง 3 ประเทศ ดังนี้

ทางบก ได้มีการวางแผนสร้างและขยายถนน และเส้นทางสำคัญที่เชื่อมโยงไปถึงด่านชายแดนต่าง ๆ ขยายถนนและสร้างเส้นทางเพิ่มเติมจากสนามบินจังหวัดนครพนม นอกจากนี้ ยังได้อนุมัติสร้างทางรถไฟเพิ่มเติม จากจังหวัดอุดรธานีเชื่อมไปยังจังหวัดหนองคาย และสถานีท่านาแล้งที่จะเชื่อมไปยังเวียงจันทร์ ของสาธรณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งขณะนี้ได้บริษัทผู้ก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ส่วนระบบราง มีการสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่ (บ้านไผ่-นครพนม) ซึ่งปัจจุบันได้ทำการเวนคืนที่ดิน และปักหมุดไปแล้ว 96 % และได้อนุมัติงบประมาณสร้างทางหลวงชนบทคู่ขนานรถไฟรางคู่ เพื่อเชื่อมไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม

ทางน้ำ มีแผนที่จะให้จังหวัดขอนแก่นเป็น Dry Port เพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งทางน้ำในอนาคต 

ทางอากาศ มีการวางแผนเพิ่มศักยภาพโดยให้สนามบินนานาชาติจังหวัดอุบลราชธานี เป็น Hub หรือศูนย์กลางเชื่อมโยงการบินไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และจะเพิ่มลานจอดเครื่องบินภายในปีนี้ ส่วนสนามบินจังหวัดนครพนม มีแผนจะเพิ่มเส้นทางเข้า-ออก สนามบิน เพิ่มช่องลานจอดเครื่องบิน และจะมีสายการบินไลออนแอร์เพิ่มเข้ามา และจะมีการเพิ่มเส้นทางการบินระหว่างเมือง คือ เส้นทางนครพนม-ภูเก็ต และ นครพนม-เชียงใหม่ ซึ่งจะทดลองบินในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนั้น จะมีเส้นทางระหว่างประเทศ จากสนามบินจังหวัดขอนแก่น ไปยังเมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนาม

นอกจากนี้ ดร.มนพร เจริญศรี ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าระบบผ่านแดนและศุลกากร โดยมีนโยบาย One Stop Service หรือ Check Through รวมถึงการใช้ระบบ X-Ray ตู้คอนเทนเนอร์ การใช้การ Scan QR Code และระบบออนไลน์ในกระบวนการทำเอกสารผ่านแดนต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการผ่านแดน การยกเลิกเอกสาร ตม.6 การให้แรงงานต่างด้าวในกลุ่มอาเซียนทำบัตรสีชมพู เพื่อสนับสนุนสวัสดิการและความปลอดภัย  

ส่วนประเด็นการท่องเที่ยวนั้น เนื่องจากจังหวัดนครพนมมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจังหวัดยังมีปัญหาด้านสาธารณูปโภคที่จะรองรับนักท่องเที่ยว เช่น ขีดความสามารถและมาตรฐานของโรงพยาบาลในท้องถิ่น ซึ่งต้องพัฒนาเพื่อสามารถรองรับนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นในอนาคต สำหรับประเด็นคำถามเรื่องรถยนต์พวงมาลัยซ้ายจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะผ่านแดนมาวิ่งในประเทศไทย ขณะนี้กรมขนส่งทางบกกำลังแก้ไขกฎระเบียบ เพื่อให้ทันสมัยและรองรับได้อย่างคล่องตัวขึ้น

ทั้งนี้ ดร.มนพร เจริญศรี ยังได้แจ้งเรื่องสำคัญต่อที่ประชุมได้รับทราบ คือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีแผนการที่จะเยือน สส.เวียตนาม อย่างเป็นทางการ ประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นจะมีการประชุมสรุปประเด็นและข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ดร.มนพร ทราบมาว่าศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม มีการศึกษาวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับความร่วมมือในกรอบ GMS รวมถึงงานวิจัยเรื่องเส้นทาง R8 และ R12 งานวิจัยสถานที่ท่องเที่ยวและชาติพันธุ์ในเส้นทาง R8 และ R12 ดังนั้น จึงขอให้ศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยนครพนม สนับสนุนข้อมูลดังกล่าว เพื่อใช้ในการประชุมเตรียมความพร้อมในการเยือนเวียตนามของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับศูนย์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงของมหาวิทยาลัยนครพนม

ภาพ/ข้อมูล : สุริยันต์ สุรเกรียงไกร/โสรัจจ์ ประวีณวงศ์วุฒิ

ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น

HOT LINK