รอบรั้วกันเกรา

ม.นครพนม เตรียมเปิดใช้งาน “หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”

นายพัฒนะ พิมพ์แน่น 2024-04-06 13:57:16 335

ม.นครพนม เตรียมเปิดใช้งาน “หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”

มหาวิทยาลัยนครพนม เตรียมเปิดใช้งาน “หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ต้นเดือนพฤษภาคม นี้ ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมหลังลงพื้นที่สำรวจความเรียบร้อยของอาคารหอประชุมกับทีมคณะผู้บริหาร ทีมวิศวกร และเจ้าหน้าที่แผนกอาคารสถานที่และยานพาหนะมหาวิทยาลัยนครพนม ว่า ขณะนี้ระบบภายในของหอประชุมมีความพร้อมในการใช้งาน 100 เปอร์เซ็นต์ และจะเริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการต้นเดือนพฤษภาคม โดยงานแรกจะใช้เป็นกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาปีการศึกษาใหม่ในเดือนมิถุนายน 2567 รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยต่อไป 

“หอประชุมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่มรุกขนคร ต.นาราชควาย อ.เมือง จ.นครพนม มีพื้นที่การก่อสร้างประมาณ 30,000 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 20 ไร่ ใช้งบในการก่อสร้างมากถึง 400 ล้านบาท ถือเป็นหอประชุมที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) สามารถบรรจุคนได้มากถึง 3,000 คน 

พื้นที่การใช้ประโยชน์ของอาคารมีทั้งหมด 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 เป็นลานจอดรถ สามารถรองรับได้มากถึง 100 คัน และยังมีพื้นที่รอบนอกอาคารที่สามารถจอดได้อีก 1000 คัน มีประตูทางเข้า-ออก ที่สะดวก มีกล้องวงจรปิดทุกจุดเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มาใช้บริการ สำหรับชั้นที่ 2 มหาวิทยาลัยคาดหวังอยากให้หอประชุมแห่งนี้ เป็นจุดแสดงสินค้าภูมิภาคของไทย ลาว เวียดนาม จีน พม่า และกัมพูชา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความกว้าง และสะดวกต่อการจัดแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ส่วนชั้นที่ 3 สามารถใช้จัดแสดงคอนเสิร์ต การประชุมนานาชาติ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่ และแต่ละชั้นมีระบบการขนส่งสินค้าขึ้น-ลง เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้งานในอาคาร ส่วนลวดลายการตกแต่ง และความอ่อนช้อยของอาคารแห่งนี้ เป็นการนำไอเดียแนวคิดของอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดนครพนม มาออกแบบประยุกต์เพื่อให้กลมกลืนกับบริบทพื้นที่

ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า หอประชุมนี้แม้จะเป็นการก่อสร้างในนามมหาวิทยาลัย แต่การใช้งานทุกคน ทุกหน่วยงาน สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เพราะภารกิจของมหาวิทยาลัยคือการสนับสนุนสังคม และยิ่งการใช้งานจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัด หรือเศรษฐกิจโดยรวมของสังคม มหาวิทยาลัยมีความยินดีอย่างยิ่ง

“หอประชุมนี้ใหญ่ที่สุดในเขตภาคอีสานตอนบน ซึ่งหมายความว่าความอลังการของหอประชุมยิ่งใหญ่มาก หากทุกคนได้มาเห็นจริง ๆ จะเห็นว่าเดินสุดลูกหูลูกตา ระบบแสง สี เสียง มีความสมบูรณ์มาก นั่นคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยนครพนมได้จัดสร้างไว้ เพื่อให้ประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่าง ๆ การค้า การลงทุน ภาคธุรกิจ สามารถใช้พื้นที่ของหอประชุมนี้ได้ และถ้าเราทำเป็นห้องประชุมที่รับการรับรองไมซ์ (MICE) ประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นมหาศาลกับเศรษฐกิจชีวิตความเป็นอยู่ของคนนครพนม ภารกิจของมหาวิทยาลัยนครพนมจะทำหน้าที่สนับสนุนหอประชุมแห่งนี้ให้เป็นหอประชุมภูมิภาคของพวกเราอย่างแท้จริง ซึ่งทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่จากหอประชุมนี้ได้อยู่แล้ว” ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย กล่าว

การเข้าตรวจเช็กอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในอาคารของเจ้าหน้าที่ขณะนี้ เพื่อให้มีความพร้อมก่อนจะเปิดใช้งาน แต่ตั้งการทดสอบระบบสาธารณูปโภค ระบบแสง สี เสียง รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ การเปิดใช้งานในต้นเดือนพฤษภาคม ถือเป็นการทดสอบดีเฟคท์ (ปัญหา-ข้อบกพร่อง) จากการใช้งานเพื่อจะได้แนวทางในการแก้ไขในจุดต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนการปรับแต่งภูมิทัศน์โดยรอบของอาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยได้ประเมินงบใช้จ่ายเพิ่มเติม เบื้องต้นเป็นจำนวนเงิน 40 ล้านบาท จากสำนักงบประมาณแผ่นดิน ในปี 2568 ซึ่งหากได้งบในส่วนนี้เข้ามาเพิ่ม หอประชุมจะมีความสมบูรณ์แบบ และสวยงาม สามารถรองรับการจัดประชุมระดับนานาชาติ จากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในอนาคต

ภาพ/ข่าว : พัฒนะ พิมพ์แน่น

ลิ้งก์สกู๊ปข่าววีดีโอ : https://www.youtube.com/watch?v=HPKSGs5hXCg

HOT LINK